คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 12 บัญญัติว่า การกำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ให้กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงที่สุดได้ไม่เกินห้าสิบปี ดังนั้นสำหรับข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งมีระวางโทษจำคุก 4 ปี ถึงตลอดชีวิต ระวางโทษสามเท่าจึงเป็นจำคุก 12 ปี ถึงตลอดชีวิต ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวเป็นจำคุก 54 ปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 , 72 ทวิ ริบเมทแอมเฟตามีนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1005/2538 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา และคดีหมายเลขดำที่ 53/2538 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 21
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่ และจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับสารภาพในข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 54 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหามีและพาอาวุธปืนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกในข้อหาดังกล่าวกระทงละ 1 ปี เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1005/2538 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา และคดีหมายเลขดำที่ 53/2538 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 21 นั้น เนื่องจากในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1005/2538 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 53/2538 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 21 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผลการวินิจฉัยต้องเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 12 บัญญัติว่า การกำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ให้กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงที่สุดได้ไม่เกินห้าสิบปี ดังนั้นสำหรับข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งมีระวางโทษจำคุก 4 ปี ถึงตลอดชีวิต ระวางโทษเป็นสามเท่าจึงเป็นจำคุก 12 ปี ถึงตลอดชีวิต ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวเป็นจำคุก 54 ปี จึงไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยเห็นสมควรแก้ไขโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีด้วยและสำหรับเมทแอมเฟตามีนของกลางเมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบของกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 13250/2545 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาใหม่แล้ว จึงไม่จำต้องสั่งริบเมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 42 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีอาวุธไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนเข้าด้วยกันแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 44 ปี ยกคำขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share