คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งตายก่อนเจ้ามรดก ส่วนมรดกที่ทายาทโดยธรรมจะได้รับย่อมตกทอดแก่ผู้สืบสันดานทุกคนของทายาทโดยธรรมนั้นในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ดังนั้น เมื่อทายาทโดยธรรมตาย มีผู้เอาชื่อผู้สืบสันดานคนหนึ่งใส่ลงในหน้าโฉนดเป็นผู้รับมรดกจึงหาทำให้ผู้สืบสันดานคนอื่น ๆ เสียสิทธิในการรับมรดกแทนที่ในที่ดินนั้นไปไม่
คำสั่งของผู้ตายให้ยกที่ดินให้แก่ใครคนหนึ่งนั้นมิใช่พินัยกรรม จึงหาลบล้างสิทธิของทายาทโดยธรรมหรือผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมนั้นไม่
การสละมรดกจะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
การที่มารดาจะสละมรดกแทนผู้เยาว์ได้ จะต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องกัน นายโตนางหว่างเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดก คือ ที่ดินแปลงหนึ่งจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก นายโหมดบิดาโจทก์จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งได้ตายก่อนเจ้ามรดก ที่ดินมรดกส่วนของนายโหมดจึงตกได้แก่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน ทายาทของนายโตนางหว่างจึงลงชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานและเป็นบุตรคนโตรับมรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นน้อง ๆ ด้วย ขณะนั้นโจทก์จำเลยยังเป็นผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของนางทวนมารดา มารดาและโจทก์จำเลยรวมทั้งทายาทของเจ้ามรดกคนอื่นได้ทำนาร่วมกันมาจนกระทั่งได้แบ่งแยกที่ดินเป็นส่วนสัดมารดาโจทก์ได้ครอบครองและทำนาในส่วนที่เป็นของโจทก์จำเลยแทนตลอดมา ต่อมาได้มีการรังวัดออกโฉนดใหม่ คงมีชื่อจำเลยผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ไปขอลงชื่อถือกรรมสิทธิด้วย จำเลยก็ผัดผ่อน ในที่สุดจำเลยก็ห้ามไม่ให้นางทวนเข้าทำนา จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของโจทก์จำเลย และบังคับจำเลยให้ยอมให้โจทก์ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจำเลยในโฉนดดังกล่าว
จำเลยสู้ว่า นายโตนางหว่างได้มีคำสั่งก่อนตาย ยกที่พิพาทให้จำเลยร่วมกับทายาทของนายโตนางหว่าง ซึ่งนางทวนมารดาจำเลยก็เห็นดีเห็นชอบด้วย เมื่อแบ่งแยกโฉนดจำเลยไม่เคยแจ้งให้นางทวนและโจทก์ทราบว่าจะให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดใหม่ นางทวนและโจทก์ทำนาในฐานะเป็นผู้อาศัยเท่านั้น โจทก์เรียกร้องเอามรดกเกินกว่า ๑ ปี จึงขาดอายุความมรดกแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ก่อนนายโตนางหว่างตาย ได้สั่งไว้ให้ยกที่ดินอันเป็นมรดกให้แก่บรรดาทายาทของนายโตนางหว่างและจำเลยคนละหนึ่งส่วน เมื่อแบ่งแยกแล้วจำเลยได้ที่ดินแปลงที่พิพาทนี้ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นและเห็นว่า นางทวนมารดาโจทก์จำเลยรู้เห็นในขณะแบ่งมรดก แล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ปล่อยให้จำเลยผู้เดียวมีชื่อร่วมกับผู้รับมรดกคนอื่น ๆ ถือว่านางทวนรู้เห็นยินยอมให้จำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้รับมรดกส่วนนี้ การที่นางทวนครอบครองที่มรดกตลอดมาเป็นการครอบครองแทน จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า นายโตนางหว่างไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อตายมรดกจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายโตนางหว่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๐ นายโหมดบิดาโจทก์จำเลยเป็นบุตรของนายโตนางหว่างแต่ตายไปก่อน มรดกส่วนของนายโหมดจึงตกทอดแก่โจทก์จำเลยในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ตามมาตรา ๑๖๓๙ ที่จำเลยว่านางหว่างสั่งไว้ก่อนตายให้ยกที่ดินส่วนนายโหมดให้จำเลยผู้เดียว คำสั่งของนางหว่างไม่ใช่พินัยกรรม จึงหามีผลลบล้างสิทธิโจทก์ที่จะรับมรดกแทนที่นายโหมดไม่ การที่จำเลยมีชื่อในโฉนดรับมรดกแต่ผู้เดียวนั้น นางทวนเพียงแต่ให้ใส่ชื่อจำเลยไว้ก่อนเท่านั้น หากจะฟังว่านางทวนยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียว ก็เท่ากับนางทวนสละมรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การสละมรดกนั้นนอกจากจะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ แล้ว นางทวนจะสละมรดกแทนผู้เยาว์ได้ก็ต้องได้รับอนุมัติจากศาลเสียก่อน ตามมาตรา ๑๖๑๑(๑) การที่จำเลยมีชื่อในโฉนดรายพิพาทแต่ผู้เดียวหาทำให้โจทก์เสียสิทธิในการที่จะรับมรดกแทนที่นายโหมดบิดาร่วมกับจำเลยแต่อย่างใดไม่และคดีฟังได้ว่านางทวนได้ครอบครองที่พิพาทแทนลูก ๆ ทุกคน มิใช่เฉพาะแต่จำเลย โจทก์ทุกคนจึงยังมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยยอมให้โจทก์ทั้ง ๔ คนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาท

Share