คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในเรื่องเดิมนั้นเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกันกับการที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ไม่เป็นความผิดต่างกรรม แม้คำฟ้องฎีกาจะเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ก็ตาม จำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมครั้งแรก แต่เบิกความไม่จบปากศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปซักค้านต่อในนัดต่อไป ข้อความที่เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกัน การเบิกความของจำเลยในครั้งหลังเจตนาที่จะให้โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมได้รับโทษเช่นเดียวกับการเบิกความในครั้งแรก ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดต่างกรรม โจทก์ทั้งสองในคดีนี้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยร่วมกันในความผิดเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 แล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องแต่เพียงคนเดียวโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทนายความหรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้เป็นผู้แทนตนในคดีนี้นั้น ฟ้องของโจทก์ที่ 2 จะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาข้อกฎหมายนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงกล่าวคือ ก. เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยเอาความอันเป็นเท็จแกล้งฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐมว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นความเท็จโดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญาข้อหาฐานความผิดร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1424/2524 คดีหมายเลขแดงที่3751/2526 ข. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2524 จำเลยได้สาบานต่อศาลจังหวัดนครปฐมแล้วเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาของศาลจังหวัดนครปฐม ในข้อหาฐานความผิดร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ตามคดีหมายเลขดำที่ 1424/2524 คดีหมายเลขแดงที่3751/2526 ที่จำเลยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ค.เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2525 เวลากลางวันจำเลยได้สาบานตัวต่อศาลจังหวัดนครปฐมแล้วเบิกความเท็จต่อจากคราวก่อน คำเบิกความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอาญา ง. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527เวลากลางวัน จำเลยได้เอาข้อความซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จแกล้งบรรยายฟ้องฎีกาคดีดังกล่าว ความจริงแล้วโจทก์ทั้งสองหาได้กระทำความผิดตามคำฟ้องฎีกาของจำเลยไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการฟ้องเท็จในคดีอาญา เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาโดยมีเจตนาทุจริต และยังเป็นการกระทำที่กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 181และ 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษฐานฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาทรวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 8 เดือน และปรับ 3,000 บาท รวม2 กระทง จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี4 เดือน และปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยอายุ 77 ปี ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จกระทงหนึ่งและลงโทษฐานเบิกความเท็จอีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และบังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีเรื่องเดิมนั้น เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จอีกกรรมหนึ่งหรือไม่เห็นว่า แม้คำฟ้องฎีกาจะเป็น “คำฟ้อง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ก็ตาม แต่การที่จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในเรื่องเดิมนั้น เป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมตามที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกันกับการที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นไม่เป็นความผิดต่างกรรมตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง
การที่จำเลยเบิกความเท็จในคดีเรื่องเดิมรวมสองครั้ง ถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2524แต่เบิกความไม่จบปาก ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปซักค้านต่อในวันที่16 มิถุนายน 2525 ข้อความที่เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกันการเบิกความของจำเลยในครั้งหลังเจตนาที่จะให้โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมได้รับโทษเช่นเดียวกับการเบิกความในครั้งแรก ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกันมิใช่เป็นความผิดต่างกรรมตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง
ส่วนปัญหาที่ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องแต่เพียงคนเดียวโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทนายความหรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้เป็นผู้แทนตนในคดีนั้นฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 2 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7) หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยร่วมกันในความผิดเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 จะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7) หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share