แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่บุคคลซึ่งถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อของตนออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องสอบสวนแล้วมีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้ไปยังบุคคลนั้นอีกครั้งหนึ่งก่อนด้วย หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้แล้ว สิทธิที่จะร้องขอต่อศาลก็ยังไม่อาจกระทำได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ถึงผู้ร้องแจ้งว่าปรากฏตามทางสอบสวนว่า ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงิน 140,545,427.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปีของต้นเงิน 91,311,845.42 บาท นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมทั้งบอกกล่าวบังคับจำนำหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) 3,029,000 หุ้น ซึ่งเป็นหลักประกันด้วย หากผู้ร้องจะปฏิเสธหนี้ดังกล่าว ให้ผู้ร้องปฏิเสธเป็นหนังสือไปยังผู้คัดค้านภายใน 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือทวงหนี้ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธหนี้ดังกล่าวยื่นต่อผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาโดยขอให้ผู้คัดค้านจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ตามสำเนาหนังสือปฏิเสธหนี้ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 แต่ผู้คัดค้านมิได้มีหนังสือแจ้งความเห็นยืนยันจำนวนหนี้ดังกล่าว และมิได้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอทราบผลการพิจารณากรณีดังกล่าว ผู้คัดค้านมีคำสั่งว่า “ลูกหนี้รายนายปัญญา (ผู้ร้อง) สำนวนทวงหนี้ของบริษัทฯ ผู้ล้มละลายซึ่งบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลซื้อได้ตามสัญญาขายสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2546 และได้ชำระราคาค่าซื้อครบถ้วนแล้ว พร้อมทั้งได้ส่งมอบเอกสารแห่งหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) แล้ว กรณีบริษัทฯ ผู้ล้มละลาย จึงมิต้องดำเนินการแต่อย่างใด แจ้งผู้ร้องทราบให้ติดต่อกับบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ต่อไป” รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำร้องฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2547
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้านแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคสอง ผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนและทำความเห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้หรือไม่ แต่ผู้คัดค้านยังมิได้ทำความเห็นยืนยันว่าผู้ร้องเป็นหนี้เลย กลับนำเอาสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ดังกล่าวไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นแต่อย่างใด การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้และให้เพิกถอนสัญญาขายสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2546
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องตามหนังสือทวงหนี้ของผู้คัดค้านเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ตามหนังสือทวงหนี้ของผู้คัดค้านดังกล่าว แต่ผู้คัดค้านยังมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ดังกล่าวไปยังผู้ร้อง เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้มีต่อผู้ร้องออกประมูลขายโดยวิธีอื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 เพื่อรวบรวมเงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ ต่อมาผู้คัดค้านได้นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ออกประมูลขาย และบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ ผู้คัดค้านจึงทำสัญญาขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องให้แก่บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาขายสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2546
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ…” วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ ให้จำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้ และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งจำนวนเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่า ถ้าจะคัคค้านประการใด ให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยัน” และวรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อนให้ศาลพิจารณา… ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้” จากบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่บุคคลซึ่งถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อของตนออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องสอบสวนแล้วมีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้ไปยังบุคคลนั้นอีกครั้งหนึ่งก่อนด้วย หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้แล้ว สิทธิที่จะร้องขอต่อศาลจึงยังไม่อาจกระทำได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านยังมิได้มีหนังสือแจ้งความเห็นยืนยันจำนวนหนี้ไปยังผู้ร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ