แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 12 คน รวมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม เมื่อรถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่นั่ง 11 คน น้ำหนักรถ 1,200 กิโลกรัม จึงเป็นรถที่ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยประกอบการขนส่งประจำทางโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล น้ำหนักรถ 1,200 กิโลกรัม ซึ่งไม่ใช่รถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งคนโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126พระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, 60 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, และ 60 ฐานประกอบการขนส่งประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาทฐานใช้รถอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทางรับจ้างโดยสารเป็นรายตัวในทางที่ได้รับอนุญาตให้มีรถโดยสารประจำทางให้ปรับ 1,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตามความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า รถยนต์จำเลยลักษณะนั่งสองแถวประเภทส่วนบุคคล ที่นั่ง 11 คน น้ำหนักรถ 1,200กิโลกรัม ตามเอกสารหมาย จ.2 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา5 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทนมีผลว่า พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 12 คน รวมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน1,600 กิโลกรัม ด้วย ฉะนั้นรถยนต์จำเลยจึงเป็นรถที่ไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามข้อหาดังฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.