คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายเป็นสมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขระบุชื่อ ส. บิดาเป็นผู้รับประโยชน์เงินสังขารานุเคราะห์ไว้ ตามข้อบังคับ ย่อมมีผลว่ากรมไปรษณีย์โทรเลข โดยองค์การดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจะชำระหนี้แก่ ส. บุคคลภายนอกสิทธิของ ส. จะเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น เมื่อ ส. ตายเสียก่อนโดยมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาสิทธิของ ส. ในเงินสังขารานุเคราะห์จึงยังไม่เกิดขึ้นและไม่อาจตกทอดเป็นทรัพย์มรดกไปยังทายาทของ ส.
เงินสังขารานุเคราะห์เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับหลังจากที่สมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขถึงแก่ความตายแล้ว มิใช่ทรัพย์สินที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 132/2507)
ตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อสมาชิกตาย ให้จ่าย เงินสังขารานุเคราะห์แก่ผู้รับประโยชน์ซึ่งสมาชิกผู้ตายได้ระบุชื่อไว้แต่เมื่อผู้รับประโยชน์นั้นตายก่อนสมาชิก ย่อมไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จะรับเงินสังขารานุเคราะห์ได้ตามข้อบังคับ แม้เงินสังขารานุเคราะห์จะมิใช่ทรัพย์มรดกของสมาชิกผู้ถึงแก่ความตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับเงินสังขารานุเคราะห์ดังกล่าวจึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของสมาชิกผู้ตาย เสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก
กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยให้การว่า ได้จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่ทายาทของผู้รับประโยชน์เป็นการถูกต้องตามข้อบังคับแล้วเท่ากับรับว่าองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ในความรับผิดชอบของกรมไปรษณีย์โทรเลข จะมายกข้อโต้แย้งขึ้นในชั้นฎีกาว่ากรมไปรษณีย์โทรเลข ไม่ ต้องรับผิดจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ หาได้ไม่
(วรรคหนึ่งถึงสามวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่23/2515)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายวิทยาสามีโจทก์ที่ ๑ บิดาโจทก์ที่ ๒ เป็นสมาชิกองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข (อ.ส.ค.)ซึ่งจำเลยที่ ๑ จัดตั้งและจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการ นายวิทยาระบุนายสมบุญบิดาเป็นผู้รับประโยชน์ แต่นายสมบุญตายไปก่อน บัดนี้นายวิทยาตาย จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ (ส.ข.น.)ให้โจทก์ ขอให้บังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า สิทธิที่จะรับประโยชน์รายนี้ตกทอดไปยังทายาทของนายสมบุญ คือ นางสุวรรณภริยาของนายสมบุญ ซึ่งจำเลยได้จ่ายไปแล้ว
คู่ความรับข้อเท็จจริงกัน ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่านายสมบุญผู้รับประโยชน์ตายก่อนนายวิทยา ข้อกำหนดนี้จึงตกไป แต่ข้อบังคับไม่กำหนดไว้ว่าจะจัดการอย่างไรในกรณีไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ จึงไม่อาจมีคำสั่งให้จำเลยจัดการตามที่โจทก์ขอพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ควรได้รับการสงเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของ อ.ส.ค. คือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีนางสุวรรณมารดานายวิทยาผู้ตาย และโจทก์ทั้งสองคนละส่วนพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๑๓,๔๒๖ บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ส่วนจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาคดีนี้โดยมติที่ประชุมใหญ่
ปัญหาที่ว่า การที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่นางสุวรรณภริยานายสมบุญไปนั้น เป็นการชอบด้วยข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขฯ หรือไม่
ตามข้อบังคับระบุไว้ว่า เมื่อสมาชิกผู้ใดถึงแก่กรรม อ.ส.ค.จะจ่ายเงินส.ข.น. ให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่สมาชิกผู้ถึงแก่กรรมได้ระบุชื่อไว้แก่ อ.ส.ค.
เมื่อปรากฏว่านายสมบุญซึ่งนายวิทยาผู้ถึงแก่กรรมได้ระบุชื่อไว้นั้นได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนนายวิทยา ดังนี้ จึงไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จำเลยที่ ๑จะจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้ตามข้อบังคับการที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่นางสุวรรณไป จึงเป็นการมิชอบด้วยข้อบังคับ
การที่นายวิทยา นิยม ได้ระบุชื่อนายสมบุญ นิยม เป็นผู้รับประโยชน์ไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลขมีผลว่า กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ ๑ โดยองค์การดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจะชำระหนี้แก่นายสมบุญนิยม บุคคลภายนอก สิทธิของนายสมบุญ นิยม จะเกิดมีขึ้นก็ต่อเมื่อตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ ๑ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก่อนนายสมบุญ นิยม ถึงแก่กรรม นายสมบุญนิยม ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ ๑ ว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญา สิทธิของนายสมบุญ นิยม ในเงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จึงยังมิได้เกิดมีขึ้นในระหว่างที่นายสมบุญ นิยม มีชวิตอยู่ ฉะนั้น เมื่อนายสมบุญ นิยมถึงแก่กรรมลงเงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จึงไม่อาจตกทอดเป็นทรัพย์มรดกไปยังทายาทของนายสมบุญ นิยม ตามความเข้าใจของจำเลยที่ ๑ ได้อยู่นั่นเอง
ตามข้อเท็จจริงในสำนวน เงินสังขารานุเคราะห์นี้เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับหลังจากที่นายวิทยา นิยม สมาชิกองค์การสงเคราะห์ถึงแก่กรรมแล้วหาใช่ทรัพย์สินที่นายวิทยา นิยม มีอยู่ในขณะที่นายวิทยา นิยม ถึงแก่กรรมไม่จึงไม่เป็นมรดกของนายวิทยา นิยม เช่นกัน ทั้งนี้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๒/๒๕๐๗ ระหว่างนายหล้า ปัญญากา หรือปัญญาก๋า โจทก์ นายสมชัยวุฒิปรีชา กับพวก จำเลย
เนื่องจากตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวนั้น มิได้ระบุไว้ว่าในกรณีที่ผู้รับประโยชน์ถึงแก่กรรมก่อนสมาชิกองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จะพึงจัดการแก่เงินสังขารานุเคราะห์อย่างใดต่อไปจึงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า เงินสังขารานุเคราะห์จำนวน ๒๑,๑๓๙ บาทรายนี้จะพึงจ่ายให้แก่ผู้ใด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ บัญญัติว่า
“อันกฎหมายนั้น ท่านว่าต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆแห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ
เมื่อใดไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
ถ้าและไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ท่านให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนี้ก็ไม่มีด้วยไซร้ท่านให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แม้เงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จะมิใช่ทรัพย์มรดกของนายวิทยา นิยม ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินสังขารานุเคราะห์รายนี้ และโดยเฉพาะก็คือ ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๙,๑๖๒๐ วรรคแรก, ๑๖๒๙ และ ๑๖๓๕ ดังนั้น เงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายวิทยา นิยม เสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก กล่าวคือนางสุวรรณ นิยม มารดานางพรรณี นิยม โจทก์ที่ ๑ ผู้เป็นภริยาและเด็กชายวีระพงษ์นิยม โจทก์ที่ ๒ ผู้เป็นบุตร คนละหนึ่งส่วน สำหรับส่วนของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายเงินช่วยค่าทำศพนายวิทยา นิยมเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์แล้ว คงเหลือส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับอีกเป็นเงิน ๑๓,๔๒๖ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ส่วนข้อที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า องค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขมิได้อยู่ในสังกัดหรือเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ ๑แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงองค์การซึ่งข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดตั้งขึ้นเอง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่โจทก์นั้น ปรากฏจากคำให้การของจำเลยเองว่า จำเลยได้จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่ทายาทของนายสมบุญเป็นการถูกต้องตามข้อบังคับของกรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยที่ ๑ว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทษเลขแล้ว จึงเท่ากับจำเลยที่ ๑ ยอมรับว่าองค์การนี้อยู่ในความรับผิดของชอบของจำเลยที่ ๑ นั้นเอง จำเลยที่ ๑ จะยกความข้อนี้ขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผล

Share