แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกส่วนแบ่งที่ดินคนละ 1 แปลงจากจำเลยตามที่จำเลยตกลงยอมแบ่งให้ มาในคำฟ้องเดียวกันเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน (อ้างฎีกาที่ 1712/2514)แต่ไม่ปรากฏว่าราคาที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนเท่าใดโจทก์ทั้งสามคงตั้งราคาทรัพย์รวมกันมาเป็นเงิน 5,500 บาท แต่ทรัพย์พิพาทเดิมเป็นผืนเดียวกัน และจำนวนเนื้อที่ดินของโจทก์แต่ละคนก็ไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248(เทียบฎีกาประชุมใหญ่ที่ 1525/2511)
บันทึกถ้อยคำที่จำเลยให้ไว้ต่อนายอำเภอมีข้อความว่า ที่จำเลยยกที่นาพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้น เพราะคนทั้งสามเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับมารดาจำเลย และมีส่วนร่วมในนาแปลงนี้กับมารดาจำเลย บันทึกถ้อยคำดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ในฐานเป็นการให้ทรัพย์สินนาพิพาทเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525แต่คดีปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้มีข้อพิพาทระหว่างกันในเรื่องนาพิพาทนี้อยู่แล้ว การที่จำเลยไปให้ถ้อยคำและลงชื่อไว้ตามบันทึกดังกล่าว จึงแสดงถึงเจตนาของฝ่ายโจทก์และจำเลยที่จะระงับข้อพิพาทนั้นซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไป ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850แล้ว แม้จำเลยจะลงชื่อไปฝ่ายเดียว โจทก์ก็มีสิทธินำสัญญานี้มาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ (อ้างฎีกาที่ 308/2509)
ในคดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง แต่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในบางประเด็นไว้ ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าเป็นประเด็นที่จำเลยได้ต่อสู้ไว้และพยานหลักฐานก็ได้นำสืบกันมาในสำนวนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นข้อนั้นไปได้เลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรร่วมบิดามารดากับนางเต็มมารดาจำเลย บิดามารดามีนาหลายแปลง เมื่อบิดาตายแล้ว โจทก์ทั้งสามกับนางเต็มเป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและทำนาร่วมกันตลอดมา เมื่อ พ.ศ. 2498 มารดาโจทก์ทั้งสามให้นางเต็มไปแจ้ง ส.ค.1 ไว้แทนโดยใส่ชื่อนางเต็ม แต่โจทก์ทั้งสามยังคงร่วมทำนาและแบ่งข้าวกันตลอดมา ประมาณ 10 เดือนมานี้ นางเต็มถึงแก่กรรม จำเลยยื่นขอรับมรดกนาพิพาทตาม ส.ค.1 เลขที่ 403 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2498 โจทก์ทั้งสามได้ไปคัดค้านไว้ จำเลยจึงยอมแบ่งที่มรดกนี้ให้โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเจ้าพนักงานได้บันทึกคำยินยอมไว้ โดยโจทก์ที่ 1 ได้เนื้อที่ 2 ไร่ 96 วา โจทก์ที่ 2 ได้เนื้อที่ 2 ไร่ 36 วา โจทก์ที่ 3 ได้ 2 ไร่ 1 งาน 49 วา ทางอำเภอสั่งว่าเมื่อประกาศครบถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยมาจดทะเบียน น.ส.3 เป็นแปลงใหญ่ แล้วแบ่งแยกเป็นแปลงเล็ก 3 แปลงแก่โจทก์ทั้งสาม ครั้นเมื่อเจ้าพนักงานจดทะเบียนเป็นของจำเลยทั้งแปลงแล้ว จำเลยกลับไม่ยอมให้จดทะเบียนแบ่งแยกเป็นของโจทก์ทั้งสาม ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยแบ่งที่พิพาทออกเป็นสัดส่วนแก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกยินยอมไว้ต่ออำเภอยางตลาด ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2511
จำเลยให้การว่า นาพิพาทเป็นของนางเต็มมารดาจำเลย ได้รับยกให้นางเต็มได้ครอบครองฐานเจ้าของโดยสงบและโดยเปิดเผยตลอดมากว่าสิบปีแล้ว โจทก์ไม่เคยทำนานี้ร่วมกับนางเต็ม นางเต็มเป็นผู้แจ้ง ส.ค.1 ฐานเป็นเจ้าของ เมื่อนางเต็มตาย จำเลยจึงร้องขอรับมรดกในฐานะทายาท เมื่อประกาศตามระเบียบแล้ว ทางอำเภอได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้จำเลย ระหว่างประกาศโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงข่มขืนใจจำเลยให้ลงลายมือชื่อในบันทึกจำเลยบอกล้างไปแล้ว และจำเลยขอถือคำให้การนี้เป็นการบอกล้างคำบันทึกดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องเกินอายุความ และโจทก์มิใช่ทายาท ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นางเต็มมารดาจำเลยเป็นผู้รับยกให้นาพิพาทแต่ผู้เดียว และได้ครอบครองมา โดยโจทก์ทั้งสามมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การที่จำเลยให้ถ้อยคำว่ายอมแบ่งแยกที่นาพิพาทให้เป็นของโจทก์ทั้งสามนั้น ก็ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 3 ขอเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1712/2514 ระหว่างนางเหียบ ขาวศรี ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจกับพวก โจทก์ นางแดง แป้นไทย จำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนเท่าใด โจทก์ทั้งสามคงตั้งราคาทรัพย์รวมกันมาเป็นเงิน 5,500 บาท แต่ทรัพย์พิพาทเดิมเป็นที่ผืนเดียวกัน และจำนวนเนื้อที่ดินของโจทก์แต่ละคนก็ไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง มีจำนวนไม่เกินห้าพันบาท โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
คดีคงเหลือปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ เกี่ยวกับบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ให้ต่อนายอำเภอไว้ตามเอกสาร จ.1 ว่า จะมีผลบังคับจำเลยได้หรือไม่ บันทึกถ้อยคำที่จำเลยให้ไว้ต่อนายอำเภอตามเอกสาร จ.1มีข้อความว่า
1. ที่ ข้าฯ นางบุญลุ (จำเลย) ยกให้ที่นาแก่นายบุญมา ภูนาชัยนายมะณี ภูนาชัย นายคำพัน ภูนาชัย นั้น เพราะคนทั้งสามเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับแม่ข้าพเจ้า และมีส่วนร่วมในนาแปลงนี้กับแม่ข้าพเจ้าอยู่
2. ข้าฯ นายทองเลี่ยม ภูเงินงาม ยินยอมให้นางบุญลุภรรยาทำนิติกรรมยกให้ที่ดินแปลงนี้แก่บุคคลทั้งสามตามกล่าวชื่อข้างต้น
(ลงชื่อ) นางบุญลุ ภูนาสี ผู้ให้ถ้อยคำ
” นายทองเลี่ยม ภูเงินงาม ”
(ต่อหน้า) (ลายเซ็นอ่านไม่ออก) นายอำเภอ
(ลงชื่อ) (ลายเซ็นอ่านไม่ออก) จดอ่าน
ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกถ้อยคำเอกสาร จ.1 ไม่สมบูรณ์ในฐานเป็นการยกให้ทรัพย์สินนาพิพาท เพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 แต่คดีปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้มีข้อพิพาทระหว่างกันในเรื่องนาพิพาทนี้อยู่แล้ว การที่จำเลยไปให้ถ้อยคำและลงชื่อไว้ตามบันทึกเอกสาร จ.1 จึงแสดงถึงเจตนาของฝ่ายโจทก์และจำเลยที่จะระงับข้อพิพาทนั้นให้เสร็จไป ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 แล้ว แม้จำเลยจะลงชื่อไว้ในบันทึกนั้นฝ่ายเดียว โจทก์ก็มีสิทธินำสัญญานี้มาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 308/2509
ในประเด็นที่ว่า จำเลยลงชื่อในบันทึกหมาย จ.1 โดยสมัครใจหรือโดยโจทก์ขู่เข็ญหลอกลวงนั้น ศาลล่างยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเป็นประการใด ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นข้อนี้จำเลยได้ต่อสู้ไว้และพยานหลักฐานในข้อนี้ก็ได้นำสืบกันมาในสำนวนแล้ว ไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้แล้วเชื่อว่า จำเลยได้ให้ถ้อยคำไว้ในบันทึกหมาย จ.1และ จ.2 ด้วยความสมัครใจเพื่อระงับข้อพิพาท หาใช่ทำไปเพราะโจทก์ขู่เข็ญให้ทำแต่ประการใดไม่ บันทึกหมาย จ.1 จึงผูกพันจำเลยที่จะต้องแบ่งนาพิพาทให้โจทก์ตามบันทึกหมาย จ.2
พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งนาพิพาทออกเป็นสัดส่วน ตามบันทึกหมาย จ.2