แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่สืบสวนและจับกุมได้ดำเนินงานสืบสวนเป็นระบบขั้นตอนและต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่องนานถึงหนึ่งเดือนครึ่งจึงจับกุมจำเลยแปดคนในคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง อีกทั้งในการปฏิบัติงานก็ได้มีการถ่ายรูปและทำรายงานการปฏิบัติงานไว้โดยตลอด ทั้งสารเคมีที่ตรวจยึดได้มีลักษณะเดียวกันกับถังสารเคมีที่มีผู้ไปรับจากจำเลย จึงมีน้ำหนักรับฟังได้แน่ชัดแล้วว่าจำเลยร่วมอยู่ในขบวนการของกลุ่มในการลักลอบผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยสนับสนุนจำเลยแปดคนในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งผลิตเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ส่วนการที่เจ้าพนักงานมิได้จับกุมจำเลยในขณะที่เห็นเหตุการณ์นั้น เนื่องจากคนร้ายกลุ่มนี้กระทำผิดเป็นขบวนการ การที่เจ้าพนักงานจะเข้าจับกุมทันทีในเหตุการณ์ตอนหนึ่งตอนใดหรือไม่ ย่อมเป็นไปได้ที่จะต้องคำนึงถึงผลสำเร็จในการปราบปรามในภาพรวมทั้งหมดเป็นสำคัญการไม่เข้าจับกุมจำเลยทันทีจึงหาเป็นข้อผิดปกติไม่
จำเลยเพียงแต่จัดหาสารเคมีเพื่อใช้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต แต่มิได้เข้าไปร่วมผลิตหรือกระทำการใดอันเป็นการสนับสนุนให้จำเลยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ที่ผลิตขึ้นจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต คงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวผลิตเมทแอมเฟตามีน อีกทั้งจะนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการก็มิได้ เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้อ้างถึงพระราชบัญญัติฉบับนี้มาเป็นบทที่ขอให้ลงโทษจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ สีน้ำตาลทอง หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค-7658 กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจ 1 ดอก ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 6(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 จำคุก 20 ปี ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ คันหมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค-7658 กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจ 1 ดอก ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้ลงโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ร่วมกันจับกุมนายคำภีร์ งามขำ นางสาวน้อยหรือจิตตรา ทองใบ นางใจ ดาบุตรหรือแสนบุตรดี นายเส่ง เกษมศรีสุขสง่า นายไพสาน บัวทอง นางอร บัวทอง นางสุภาภรณ์ จิตตั้งบุญญา และนายวีระภัทร อินขำเครือ รวมแปดคนในข้อหาร่วมกันผลิตและมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมเมทแอมเฟตามีนบริสุทธิ์น้ำหนัก 70.22 กิโลกรัม อีเฟดรีนบริสุทธิ์น้ำหนัก 63.33 กิโลกรัม พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตกับรถยนต์หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค-7658 กรุงเทพมหานคร เป็นของกลางและต่อมาได้ฟ้องเป็นจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6659/2536 ของศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ 24 มีนาคม 2537 เจ้าพนักงานสำนักงานเดียวกันจับกุมจำเลยได้ในคดีอื่นและอายัดตัวมาดำเนินคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6659/2536 ผลิตเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือไม่ กับปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นหรือไม่ ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์จำเลยรวมกันไป โจทก์มีเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดรวม 3 คน คือนายนรเทพ พุทธเภสัช นายพงษ์ธร ศรีไพวรรณ และนายสมชาย ศรีปานเงิน เป็นพยานเบิกความต้องกันว่า เจ้าพนักงานได้ติดตามสืบสวนกลุ่มผู้ผลิตเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ออกจำหน่ายแก่ประชาชนซึ่งมีกลุ่มของนางอรซึ่งร่วมกับสามี คือนายทนงศักดิ์ จิตตั้งบุญญา และมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่น ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2530 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นกับพวกได้ร่วมกันจับกุมนายทนงศักดิ์ ครั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2531 นางอรจดทะเบียนหย่ากับนายทนงศักดิ์วันที่ 2 เมษายน 2534 เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นบ้านของนางอรได้เมทแอมเฟตามีนจำนวนมาก แต่นางอรหลบหนีไปได้ และลงมาพักอาศัยอยู่กับนางสุภาภรณ์บุตรสาวซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับนายวีระภัทร ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2535 นางอรจดทะเบียนสมรสกับนายไพสานซึ่งอยู่ในกลุ่มลักลอบผลิตเมทแอมเฟตามีนเช่นกันกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ดำเนินการผลิตเมทแอมเฟตามีนออกจำหน่ายโดยกระทำเป็นขบวนการ กลุ่มนายทุนได้แก่นางอรและนายไพสาน เจ้าพนักงานได้กำหนดรหัสสำหรับนางอรคือ แอมแปร์ 339 นางสุภาภรณ์คือ แอมแปร์ 340 และนายไพสานคือ แอมแปร์ 341 นางสุภาภรณ์รับผิดชอบด้านการเงิน นายวีระภัทรเป็นผู้ประสานงานในการผลิต กลุ่มผู้ทำหน้าที่ผลิตคือนายคำภีร์ นางสาวน้อยหรือจิตตรา และนางใจกับกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนด้านสารเคมี คือ นายประสิทธิ์หรือกุลเดช วิจิตรนาวิน นายวินัย สินประเสริฐ และจำเลยคดีนี้ นายนรเทพได้จัดตั้งชุดทำงานประมาณ 5 ถึง 6 คน มีนายพงษ์ธรและนายสมชายรวมอยู่ด้วย ในการสืบสวนได้จัดทำรายงานบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์และบันทึกภาพไว้โดยตลอด ผลการสืบสวนได้ความว่าคนร้ายขบวนการนี้มีโรงงานผลิตอยู่ 2 แห่ง คือที่โกดังหวั่งหลี 4 ซอยเจริญนคร 61 และที่บ้านเลขที่ 86 อยู่ในซอยโรงเรียนวัดเนินสูง หมู่ที่ 13 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากการสืบสวนได้ปรากฏพยานหลักฐานเกี่ยวกับจำเลยรวม 3 เหตุการณ์ด้วยกันคือ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 พฤษภาคม 2536 นายวีระภัทร ขับรถยนต์ฮอนด้าสีบรอนซ์หมายเลขทะเบียน 7 ว-1356 กรุงเทพมหานคร ตามนายประสิทธิ์หรือกุลเดชซึ่งขับรถยนต์มิตซูบิชิสีขาวหมายเลขทะเบียน 1 อ-8194 กรุงเทพมหานคร ไปรับสารเคมีซึ่งใช้ผลิตเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ตึกแถวเลขที่ 138/27 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 22 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานได้ถ่ายรูปเหตุการณ์และจัดทำรายงานการปฏิบัติงานไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.14 แผ่นที่ 1 และ 2 กับเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 14/57 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6659/2536 ครั้งที่ 2 วันที่ 29 พฤษภาคม 2536 นายวีระภัทรขับรถยนต์คันเดิมไปพบจำเลยที่ตึกแถวเดิมและยกถังสารเคมี 1 ถัง ใส่กระโปรงหลังรถ จากนั้นได้ขับรถไปสมทบกับพวกที่ร่วมขบวนการอีกหนึ่งคนคือนายวินัย ซึ่งจอดรถยนต์โตโยต้าสีเข้มหมายเลขทะเบียน 3 อ-6501 กรุงเทพมหานคร รออยู่ที่ห้างแม็คโคบางบอนแล้วขับรถตามกันไปโดยบางครั้งในระหว่างทางได้สลับรถกันขับ แต่ในที่สุดก็นำถังสารเคมีดังกล่าวไปเก็บที่โกดังหวั่งหลี 4 เจ้าพนักงานได้ถ่ายรูปเหตุการณ์และจัดทำรายงานการปฏิบัติงานไว้ ตามภาพถ่ายหมาย จ.15 แผ่นที่ 1 และ 2 กับเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 14/54 และ 55 กับครั้งที่ 3 วันที่ 30 มิถุนายน 2534 นายวินัยขับรถยนต์คันเดิมไปรับนายประสิทธิ์หรือกุลเดชซึ่งนั่งรออยู่ที่เพิงริมถนนหน้าสมาคมปักษ์ใต้ริมถนนวงแหวนแล้วไปพบจำเลยที่ตึกแถวเดิมขนถุงพลาสติกใบใหญ่บรรจุสารเคมีจำนวน 2 ถึง 3 ถุง ใส่กระโปรงหลังรถแล้วขับรถกลับไปโดยนายประสิทธิ์หรือกุลเดชเดินแยกออกไปต่างหาก เจ้าพนักงานได้ถ่ายรูปเหตุการณ์และจัดทำรายงานการปฏิบัติงานไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.18 แผ่นที่ 2 และ 3 กับเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 14/48 และ 49 นอกจากเหตุการณ์ที่จำเลยเกี่ยวข้องโดยตรงนี้แล้ว พยานโจทก์อีกหนึ่งปากคือนายณรงค์ศร พรหมแสน เบิกความสนับสนุนคำเบิกความของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่า นายณรงค์ศรเป็นผู้เช่าโกดังหวั่งหลี 4 จากนายสุวิทย์ หวั่งหลี และให้เช่าช่วง นางอรและนายไพสานไปพบนายณรงค์ศร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 ขอเช่าช่วงเป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือน จากนั้นได้มีการนำเครื่องผสมสารเคมี สารเคมี 2 กระสอบและสารเคมีบรรจุกล่องกระดาษอีก 2 กล่อง ไปเก็บที่โกดังหวั่งหลี 4 นายณรงค์ศรเคยเห็นนายคำภีร์ นางสาวน้อยหรือจิตตราและนางใจผสมสารเคมี กับนายณรงค์ศรเคยรับจ้างนายไพศาลไปขนเครื่องอัดเม็ดจากโรงกลึงที่ซอยวุฑากาศ 6 ถนนวุฒากาศ แขวงและเขตบางขุนเทียนไปเก็บที่บ้านและต่อมาก็มีพวกของนายไพสานมาขนต่อไปต่างจังหวัด นอกจากนี้นายณรงค์ศรยังเบิกความด้วยว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 เจ้าพนักงานได้เข้าตรวจค้นโกดังหวั่งหลี 4 และได้ของกลางซึ่งเกี่ยวข้องในการผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 หลายรายการซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของเจ้าพนักงานพยานโจทก์และภาพถ่ายหมาย จ.30 แผ่นที่ 1 และ 2 ส่วนการเข้าจับกุมกลุ่มผู้ผลิตที่จังหวัดปราจีนบุรี ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายพงษ์ธรและนายนรเทพว่าได้เข้าจับกุมนายคำภีร์ นางสาวน้อยหรือจิตตรา นางใจ และนายเส่ง ได้พร้อมเครื่องอัดเม็ด 3 เครื่อง เมทแอมเฟตามีนอัดเม็ดประมาณ 30 ถุงกระดาษ บรรจุถุงละประมาณ 20,000 เม็ด บรรจุซองพลาสติก 6 ซองใหญ่ บรรจุเมทแอมเฟตามีนซองละ 10 ถุง เมทแอมเฟตามีนบรรจุถุงพลาสติกขนาดใหญ่น้ำหนัก 15 กิโลกรัม และผงเมทแอมเฟตามีนจำนวน 6 ถุง มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 96 กิโลกรัม กับอุปกรณ์การผลิตหลายรายการด้วยกันตามภาพถ่ายหมาย จ.29 แผ่นที่ 1 ถึง 4 และ จ.30 แผ่นที่ 1 และ 2 และในวันเดียวกันเจ้าพนักงานก็ได้เข้าจับกุมนางอร นายไพสาน นายวีระภัทร และนางสุภาภรณ์ได้ในกรุงเทพมหานครตามที่ได้ติดต่อประสานงานกัน จากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมานี้ จะเห็นได้ว่า นายนรเทพ นายพงษ์ธร และนายสมชายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักและมีสาเหตุกับจำเลยและพวกมาก่อน จึงไม่มีข้อควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความใส่ร้ายผู้ใดการดำเนินงานสืบสวนได้ทำเป็นระบบขั้นตอน และต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่องนานถึงหนึ่งเดือนครึ่งจึงจับกุมจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6659/2536 อีกทั้งในการปฏิบัติงานก็ได้มีการถ่ายรูปและทำรายงานการปฏิบัติงานไว้โดยตลอด ทั้งสารเคมีที่ตรวจยึดได้ที่โกดังหวั่งหลี 4 ตามภาพถ่ายหมาย จ.30 แผ่นที่ 1 และ 2 ก็มีลักษณะเดียวกันกับถังสารเคมีที่นายวีระภัทรและนายวินัยไปรับจากจำเลยที่ตึกแถวเลขที่ 138/27 นั่นเองตามภาพถ่ายหมาย จ.14 แผ่นที่ 1 ดังนี้ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้แน่ชัดแล้วว่าจำเลยร่วมอยู่ในขบวนการของกลุ่มนางอร ในการลักลอบผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามฟ้องหาใช่เป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีโดยรับฟังพยานหลักฐานไม่สิ้นกระแสความดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาว่าตามรายงานการปฏิบัติงานในวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 เอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 14/56 และ 57 มิได้ระบุชื่อของจำเลยโดยระบุเพียงชายผิวขาวลักษณะคนจีนจึงแตกต่างกับข้อความบรรยายใต้ภาพถ่ายหมาย จ.14 แผ่นที่ 1 และแสดงว่าภาพถ่ายหมาย จ.14 จัดทำขึ้นภายหลังนั้น เห็นว่า เหตุที่เจ้าพนักงานมิได้ระบุชื่อจำเลยในรายงานการปฏิบัติงานเมื่อวันดังกล่าว ก็น่าจะเป็นเพราะเจ้าพนักงานเพิ่งพบว่าจำเลยซึ่งขณะนั้นเจ้าพนักงานยังไม่ทราบชื่อเป็นผู้ร่วมขบวนการผลิตด้วย และรายงานดังกล่าวได้จัดทำขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง ครั้นเมื่อจัดทำข้อความบรรยายใต้ภาพถ่ายหมาย จ.14 หลังจากวันนั้นซึ่งเจ้าพนักงานได้ทราบชื่อของจำเลยแล้วจึงระบุชื่อไว้ ดังจะเห็นได้จากรายงานการปฏิบัติงานในวันที่ 29 พฤษภาคม 2536 และวันที่ 30 มิถุนายน 2536 หาใช่ภาพถ่ายดังกล่าวได้จัดทำขึ้นภายหลังดังที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนการที่เจ้าพนักงานมิได้จับกุมจำเลยในขณะที่เห็นเหตุการณ์ตลอดทั้งการที่จำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6659/2536 มิได้ให้การซัดทอดมายังจำเลยและจากคำเบิกความของพันตำรวจโทอดิศักดิ์ วิบูลย์ชัยโยธิน พนักงานสอบสวน ซึ่งจัดส่งของกลางที่ยึดได้จากการเข้าจับกุมจำเลยทั้งแปดไปทำการตรวจพิสูจน์ก็มิได้ระบุชื่อจำเลยว่าร่วมกระทำผิดด้วยนั้น ก็เห็นได้ว่าคนร้ายกลุ่มนี้กระทำผิดเป็นขบวนการ การที่เจ้าพนักงานจะเข้าจับกุมทันทีในเหตุการณ์ตอนหนึ่งตอนใดหรือไม่ ย่อมเป็นไปได้ที่เจ้าพนักงานจะต้องคำนึงถึงผลสำเร็จในการปราบปรามในภาพรวมทั้งหมดเป็นสำคัญ การที่เจ้าพนักงานไม่เข้าจับกุมจำเลยทันทีจึงหาเป็นข้อผิดปกติไม่ และเหตุที่พันตำรวจโทอดิศักดิ์มิได้ระบุชื่อจำเลยรวมในกลุ่มจำเลยทั้งแปดดังกล่าว ก็เป็นเพราะขณะนั้นจำเลยยังมิได้ถูกจับกุมรวมอยู่ในกลุ่มจำเลยทั้งแปดนั่นเอง พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6659/2536 ผลิตเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจริง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นและสำหรับฎีกาของโจทก์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดจากพยานหลักฐานของโจทก์เองว่า จำเลยเพียงแต่จัดหาสารเคมีเพื่อใช้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต แต่จำเลยมิได้เข้าไปร่วมผลิตหรือกระทำการใดอันเป็นการสนับสนุนให้จำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ที่ผลิตขึ้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต อีกทั้งจะนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการก็มิได้ เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้อ้างถึงพระราชบัญญัติฉบับนี้ มาเป็นบทที่ขอให้ลงโทษจำเลยย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน