คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามฟ้องร้องบังคับคดีเนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. โจทก์ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นในที่ดินทั้งสองแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1725 ประกอบมาตรา 1357

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายสุทัศน์กับนางวิภาวรรณ นายสุทัศน์เป็นบุตรของนายเม้งกับนางคำ ต่อมานายเม้งถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเม้งได้แบ่งที่ดินมรดกออกเป็น 6 แปลง รวมทั้งที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3724 และ 3725 บุตรของนายเม้งรวมทั้งบิดาโจทก์ทั้งสองตกลงแบ่งปันที่ดินมรดก จำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3724 และ 3725 ให้แก่บิดาของโจทก์ทั้งสองตามข้อตกลง ต่อมาบิดาของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทและผู้รับมรดกแทนที่นายสุทัศน์ได้ทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3724 และ 3725 ตำบลห้วย อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ให้แก่โจทก์ทั้งสองหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ศาลสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า นางคำภริยาของนายเม้งมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องอยู่ครึ่งหนึ่ง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่นายเม้งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและหรือนายสุทัศน์บิดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3724 และ 3725 หนึ่งในเจ็ดส่วนของที่ดินแต่ละแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายเม้งและนางคำ วงศ์บุญ อยู่กินฉันสามีภริยามีบุตร 7 คน นายสุทัศน์ วงศ์บุญ และจำเลยเป็นบุตรของนายเม้ง กับนางคำ นายสุทัศน์มีภริยาคือนางวิภาวรรณ วงศ์บุญ มีบุตรคือโจทก์ทั้งสอง เมื่อปี 2532 นายเม้งถึงแก่ความตาย แต่ไม่ได้ทำพินัยกรรมมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1331 เนื้อที่ 62 ไร่ 2 งาน จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเม้งตามคำสั่งศาล ได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินมรดกออกเป็น 6 แปลง เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามข้อตกลง โดยที่ดินแปลงที่ 5 โฉนดที่ดินเลขที่ 3725 เนื้อที่ 8 ไร่ 78 ตารางวา แปลงที่ 6 โฉนดที่ดินเลขที่ 3724 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ให้นายสุทัศน์ ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 นายสุทัศน์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองแจ้งให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3724 และ 3725 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยไม่ดำเนินการ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามฟ้องร้องบังคับคดีเนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงจากจำเลย เป็นการใช้สิทธิที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสุทัศน์ ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเม้ง โจทก์ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นในที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629, 1725 ประกอบมาตรา 1357 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเม้งแบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสองหนึ่งในเจ็ดส่วนจากที่ดินทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share