แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยยังเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อหุ้นส่วนยังไม่เลิกกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินที่ร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนจากคนอื่นๆได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055,1056 และ 1057
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยปลอดจำนอง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไปกระทบสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้กระทบกระเทือนสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินและโอนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองตามหุ้นที่ลงโดยปลอดจำนอง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสองได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน7,830,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,610,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1001 และใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำนวน 3 ส่วน และ 1 ส่วน ใน 10 ส่วนตามลำดับในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ดังกล่าว โดยปลอดจำนอง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1001 เป็นเจ้าของรวมจำนวน 3 ส่วน และ 1 ส่วน ใน 10 ส่วน ตามลำดับโดยไม่ปลอดจำนอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2539 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1001 ตามสัญญาหุ้นส่วนเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนรับซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 10,000,000บาท ในวันเดียวกันโดยจำเลยที่ 2 เข้ามามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วยในส่วนของจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 แทน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ศาลจะพิพากษาบังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลจะต้องพิพากษาบังคับตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 เพื่อให้สามารถบังคับคดีได้นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองเองว่า โจทก์ทั้งสองยังเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยโจทก์ทั้งสองหาได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยดังกล่าวไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนกัน ดังนั้นตามคำขอข้อที่ 2 โจทก์ทั้งสองมีคำขอว่า “2.หากไม่สามารถดำเนินการตาม ข้อ 1. ได้ให้จำเลยทั้งสามคืนเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,830,000 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 2,610,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น” เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์ที่ 1 ขอให้คืนจำนวน 7,830,000 บาท นั้น มีเงินในส่วนที่โจทก์ที่ 1 ลงเป็นหุ้นจำนวน 1,850,000 บาท รวมอยู่ด้วย และเงินที่โจทก์ที่ 2 ขอให้คืนจำนวน 2,610,000 บาท มีเงินในส่วนที่โจทก์ที่ 2 ลงเป็นหุ้นจำนวน 550,000 บาท รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีเงินค่าใช้จ่ายกับค่าพัฒนาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองลงไว้ในหุ้นส่วนนี้อีกด้วย เมื่อหุ้นส่วนยังไม่เลิกกันโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินที่ร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนจากคนอื่น ๆ ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055, 1056 และ 1057
ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโดยไม่ปลอดจำนอง โดยคู่ความมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1001 โดยปลอดจำนองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไปกระทบสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้กระทบกระเทือนสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
พิพากษายืน