คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2391/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 7,500 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 44,067 บาทตามฟ้องเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกิน50,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์โจทก์ไป ๑ คัน โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ สัญญาจึงเลิกกัน ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายทั้งสิ้น ๔๔,๐๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๘ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป โจทก์สามารถบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๗,๕๐๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๑ มกราคม๒๕๓๐ จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๔๔,๐๖๗ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ๗,๕๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะในเรื่องค่าเสียหายเป็นว่าให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๔๔,๐๖๗ บาท ตามฟ้อง เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อยและทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินห้าหมื่นบาท จำเลยที่ ๓ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ ๓ โดยเห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากนั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ ๓
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ ๓.

Share