แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 แล้ว แม้การแสดงเจตนาดังกล่าวไม่อาจถอนได้ก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้สนองรับ โดยจำเลยได้ยับยั้งการลาออกของโจทก์ไว้แล้วอนุญาตให้โจทก์กลับเข้าทำงานอีก จึงเท่ากับจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ถอนใบลาออก คำเสนอขอลาออกของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป ดังนั้น จึงไม่มีหนังสือขอลาออกของโจทก์ที่จำเลยจะอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้อีก คำสั่งของจำเลยที่อนุมัติให้โจทก์ลาออกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 51155/2541 ลงวันที่ 27 เมษายน 2541 และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและหน้าที่เดิมหรือเทียบเท่าตำแหน่งเดิม กับให้เลื่อนระดับงานและขั้นเงินเดือนให้สูงขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ขั้น กับนับอายุงานต่อเนื่องด้วย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 51155/2541 ลงวันที่ 27 เมษายน 2541 ให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและหน้าที่เดิมหรือเทียบเท่า ให้เลื่อนระดับงานและขั้นเงินเดือนให้โจทก์ปีละ 1 ขั้น ยกเว้นในปีที่เกิดเหตุ โดยให้นับอายุงานต่อเนื่องในระหว่างที่จำเลยให้โจทก์ลาออก คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานโทรคมนาคม ระดับ 5 ประจำที่ทำการบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ กองปฏิบัติการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โจทก์ได้ไปทำงานพิเศษกับชาวต่างชาติและถูกชาวต่างชาติร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีโจทก์ เนื่องจากทรัพย์สินของชาวต่างชาติสูญหาย พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับโจทก์ โจทก์จึงลาหยุดงาน วันที่ 8 ตุลาคม 2539 จำเลยมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ลาหยุดงานวันที่ 28 ตุลาคม 2539 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกตามเอกสารหมาย ล. 1 โดยระบุเหตุผลว่าเนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญา จำเป็นต้องไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวและตอนท้ายของหนังสือลาออกระบุข้อความตามระเบียบของจำเลยว่าโจทก์จะไม่เพิกถอนใบลาออกไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยได้ยับยั้งการลาออกของโจทก์ไว้จนกว่าจะทราบผลคดีอาญา โจทก์ได้ขออนุญาตกลับเข้าทำงานและได้รับอนุญาตจากจำเลยให้กลับเข้าทำงานได้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2539 วันที่ 5 มกราคม 2540 โจทก์ขอยกเลิกใบลาออก ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของจำเลยมีมติว่าโจทก์ไม่มีความผิดฐานละทิ้งงาน วันที่ 27 เมษายน 2541 จำเลยมีคำสั่งที่ 51155/2541 อนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ โดยให้มีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของจำเลยที่ 51155/2541 ที่อนุมัติให้โจทก์ลาออกและให้มีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ได้ยื่นหนังสือลาออกตามเอกสารหมาย ล. 1 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 โดยระบุเหตุผลว่าโจทก์จำต้องไปดำเนินการเกี่ยวกับกรณีโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา และแม้ตอนท้ายของหนังสือลาออกระบุข้อความว่าโจทก์จะไม่เพิกถอนใบลาออกไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของจำเลย แต่จำเลยก็ได้ยับยั้งใบลาออกของโจทก์ไว้และกลับอนุญาตให้โจทก์กลับเข้าทำงานอีกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2539 เห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 แล้ว และแม้การแสดงเจตนาดังกล่าวไม่อาจถอนได้ก็ตามแต่จำเลยก็มิได้สนองรับ โดยจำเลยได้ยับยั้งการลาออกของโจทก์ไว้แล้วอนุญาตให้โจทก์กลับเข้าทำงานในวันที่ 23 ธันวาคม 2539 จึงเท่ากับจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ถอนใบลาออก คำเสนอขอลาออกของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป ดังนั้น เมื่อคำขอลาออกตามเอกสารหมาย ล. 1 สิ้นผลไปแล้ว จึงไม่มีหนังสือขอลาออกของโจทก์ที่จำเลยจะอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้อีกคำสั่งของจำเลยที่ 51155/2541 ที่อนุมัติให้โจทก์ลาออกและให้มีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวนี้ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นับอายุงานของโจทก์ในช่วงเวลาที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานต่อเนื่องกับเวลาที่โจทก์เข้าทำงานตามคำสั่งศาลแรงงานกลางนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ช่วงนับแต่เวลาที่โจทก์ยื่นใบลาออกแล้วโจทก์ไม่ได้มาทำงานนั้นย่อมไม่สามารถนับอายุงานได้เพราะโจทก์ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ขออนุญาตและจำเลยให้โจทก์กลับเข้าทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2539 แล้ว จึงชอบที่จะนับอายุงานต่อเนื่องให้แก่โจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่อง เว้นแต่ช่วงระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2539 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง