คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยและให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา แม้จำเลยยื่นฎีกาในวันที่ 5 เมษายน 2532 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 7 เมษายน2532 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยลงชื่อทราบคำสั่งของศาลในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก็ตาม แต่ในคำฟ้องฎีกาดังกล่าวมีข้อความให้ผู้ฎีกามาทราบคำสั่งของศาลในวันที่ 10 เมษายน 2532 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว และทนายจำเลยได้ลงชื่อรับทราบไว้ตอนท้ายข้อความ จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2532 แล้ว การที่จำเลยมิได้นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกา.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้และบังคับจำนองที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาประกันหนี้เงินกู้ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 242,920.85 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 185,177.22 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่หลังจากการบังคับจำนอง
ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา หากจำเลยที่ 1 ได้ต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 จะชนะคดีโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษา ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาและให้จำเลยที่ 1 นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีรายงานว่า จำเลยที่ 1 ไม่มานำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 1 นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาในวันที่ 5 เมษายน2532 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 7 เมษายน 2532 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อทราบคำสั่งของศาลในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก็ตาม แต่ในคำฟ้องฎีกาดังกล่าวมีข้อความให้ผู้ฎีกามาทราบคำสั่งของศาลในวันที่ 10 เมษายน 2532 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วและทนายจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับทราบไว้ตอนท้ายข้อความ กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งของศาลตั้งแต่วันที่ 10เมษายน 2532 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 มิได้นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกา
ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา”.

Share