คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2375/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ส. กรรมการบริษัทจำเลยเพียงคนเดียวลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ต้องมีกรรมการของจำเลยตามที่ระบุชื่อไว้ในข้อบังคับจำนวนสองคนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันจำเลย การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ส. และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมนั้น จึงเป็นการกระทำโดยละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรค 2(2) ไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างซึ่งจ่ายต่ำกว่ากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์นำความลับของจำเลยไปเปิดเผยเป็นการทิจริตต่อหน้าที่โดยเจตนา และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์และนายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร ผู้จัดการของจำเลยมาศาล และแถลงร่วมกันว่า คดีตกลงกันได้ ขอให้ศาลแรงงานกลางทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ ศาลแรงงานกลางจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่คู่ความและมีคำพิพากษาไปตามยอมนั้นแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้กรรมการจำนวนสองในสี่คนตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายฟ้องอุทธรณ์เท่านั้นที่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลย และต้องประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยด้วย ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ ปรากฏว่านายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยเพียงผู้เดียวเป็นผู้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยมิใช่เป็นผู้มีอำนาจหรือได้รับมอบอำนาจจากจำเลยโดยชอบ การกระทำของนายสมชาติไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทั้งจำเลยมีเจตนาที่จะต่อสู้คดีไม่ประสงค์จะประนีประนอมยอมความกับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ขอให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดจำนวนกรรมการหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ว่า ‘นายธวัช วงศ์รัตนานุกูลนายฐิตพร มีสมมนต์ นายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร นายเดชา ทิพย์ภวัง สองในสี่คนนี้ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท’ ซึ่งหมายความว่าสัญญาหรือนิติกรรมใด ๆ จะผูกพันจำเลยต่อเมื่อมีกรรมการของจำเลยตามที่ระบุชื่อดังกล่าวจำนวนสองคนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย กรรมการคนหนึ่งคนใดโดยลำพังหามีอำนาจลงลายมือชื่อในเอกสารให้มีผลผูกพันจำเลยได้ไม่ ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์นั้นนายสมชาติ วิวรรธน์ภาสกร กรรมการเพียงคนเดียวลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลย สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันจำเลย การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสมชาติ วิวรรธ์ภาสกร และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมนั้นจึงเป็นการกระทำโดยละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ วรรค ๒(๒) ไม่มีผลบังคับ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และพิพากษาไปตามรูปคดี.

Share