แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องจากข้อความที่ว่า ‘นายบุญมา พึ่งทอง ผู้เสียหายซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด เป็น นายบุญมา พึ่งทอง ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด ผู้เสียหาย’ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของโจทก์ว่า ‘สำเนาให้จำเลย ศาลจะสั่งคำร้องนี้ในคำพิพากษาของศาล’ แต่ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้กล่าวถึงคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ เมื่อพิเคราะห์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีข้อความว่า ‘…….คำพยานโจทก์ คือ นายบุญมา พึ่งทอง กรรมการผู้จัดการบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด ผู้เสียหาย………’ แล้ว แสดงว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์ได้แก้คำฟ้องตามคำร้องแล้วโดยปริยาย ดังนั้นผู้เสียหายตามฟ้องคือบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด มิใช่นายบุญมา พึ่งทอง และบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฉ้อโกงนายบุญมา พึ่งทอง ผู้เสียหายซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๖๖๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
บริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด โดยนายบุญมา พึ่งทองขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องให้จำคุก ๓ ปีกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๖๖๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่ว่าพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๕ ขอแก้ไขฟ้องจากข้อความที่ว่า ‘นายบุญมา พึ่งทอง ผู้เสียหายซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัดเป็นนายบุญมา พึ่งทอง ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบุญมาคาร์โก้ จำกัด ผู้เสียหาย’ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคำร้องของโจทก์ว่า ‘สำเนาให้จำเลย ศาลจะสั่งคำร้องนี้ในคำพิพากษาของศาล’ แต่ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้กล่าวถึงคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์แต่ประการใด แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิเคราะห์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในหน้าที่ ๘ ซึ่งมีข้อความว่า ‘………คำพยานโจทก์คือนายบุญมา พึ่งทอง กรรมการผู้จัดการบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัดผู้เสียหาย………’ แล้ว แสดงว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องแล้วโดยปริยาย ดังนั้นผู้เสียหายตามฟ้องคือบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด มิใช่นายบุญมา พึ่งทอง และบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด ๓ เดือน พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายบุญมา พึ่งทอง ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ต่อไปและเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งไม่
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ให้จำคุก ๒ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๖๖๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย