คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 มาตรา 107 จะบัญญัติให้ผู้ถูกสั่งลงโทษมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้บังคับบัญชา แต่มาตรา120 บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง สิทธิการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของผู้ถูกลงโทษตามความในมาตรา 107 ยังไม่ให้ใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง สิทธิการฟ้องคดีตามความในมาตรา 107 จึงยังไม่อาจกระทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานและลูกจ้างของจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการโดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง แต่อุทธรณ์ของโจทก์ถูกยก โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่เป็นความจริงและมิได้มีการสอบสวนโดยชอบ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่ง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้เพราะเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหาร ไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518มาตรา 107 ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2518 ผู้ถูกสั่งลงโทษมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในหนึ่งเดือน เมื่อยังไม่ได้จัดตั้งศาลปกครองให้ฟ้องยังศาลแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 มาตรา 107 จะบัญญัติให้ผู้ถูกสั่งลงโทษมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้บังคับบัญชา แต่ก็มีมาตรา 120 บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองตามความในมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสิทธิการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของผู้ถูกลงโทษตามความในมาตรา 107 ยังไม่ให้ใช้บังคับ ขณะนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง ฉะนั้น สิทธิการฟ้องคดีตามความในมาตรา 107 ของผู้ถูกลงโทษ จึงยังไม่อาจกระทำได้ส่วนที่โจทก์ว่าเมื่อยังไม่ได้จัดตั้งศาลปกครองให้ฟ้องยังศาลแพ่งนั้น เป็นเรื่องตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518ซึ่งต่างกับกรณีที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษายืน

Share