คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์มีทุนทรัพย์ 37,500 บาท ส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ 30,000 บาท คำขออื่นตามฟ้องแย้งเป็นคำขอไม่มีทุนทรัพย์ต่อเนื่องจากคำขอมีทุนทรัพย์ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกินห้าหมื่นบาทเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6)พ.ศ.2518 มาตรา 6
การที่จำเลยนำสืบว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้นั้น มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหากแต่เป็นการนำสืบหักล้างสัญญาเช่าซื้อว่าไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 37,500 บาทจำเลยที่ 2 ค้ำประกันยอมรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อเลย ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ยังครอบครองรถยนต์ของโจทก์อยู่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์ในสภาพที่เรียบร้อย ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้ใช้ราคารถกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องการกู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาทจึงนำรถยนต์ไปเป็นหลักประกันการกู้ยืม โจทก์ให้กู้โดยวิธีโอนทะเบียนรถยนต์มาเป็นของโจทก์แล้วให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อไป การผ่อนชำระต้นเงินคืนทำเป็นชำระค่าเช่าซื้อ โดยรวมดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเข้าไปด้วยสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินใช้บังคับไม่ได้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมทั้งดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ตามสัญญากู้ยืมโจทก์ก็ยังมิได้จ่ายเงินกู้30,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 สัญญากู้ไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน30,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ถ้าโจทก์ไม่ยอมก็ให้พิพากษาว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาคืนสู่สถานะเดิม ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คืนจำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินใช้บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ สัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อจึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 2 ส่วนการกู้เงินโจทก์ยังมิได้จ่ายเงินกู้แก่จำเลยที่ 1 รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นของจำเลยที่ 1 พิพากษายกฟ้องกับให้โจทก์โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาคดีไปตามฟ้องและยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นั้น ฟ้องโจทก์มีทุนทรัพย์ 37,500 บาท ส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ 30,000 บาท คำขออื่นตามฟ้องแย้งเป็นคำขอไม่มีทุนทรัพย์ต่อเนื่องจากคำขอมีทุนทรัพย์ ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าซื้อมิใช่นิติกรรมอำพรางสัญญากู้เป็นการโต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริง ไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 นำสืบเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาเช่าซื้ออันเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืม ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้นั้น มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร หากแต่เป็นการนำสืบหักล้างสัญญาเช่าซื้อว่าไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยที่ 1 นำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

พิพากษายืน

Share