คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สถานที่ใดจะเป็นสาธารณสถานหรือไม่ ไม่ต้องคำนึงว่าสถานที่นั้นจะเป็นสถานที่ผิดกฎหมาย เช่นสถานการค้าประเวณีหรือไม่เพียงแต่พิจารณาว่าสถานที่นั้นประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้หรือไม่และต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ไป ถ้าประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ สถานที่นั้นก็เป็นสาธารณสถานไม่ใช่ที่รโหฐาน
ได้ความว่าเจ้าของสถานการค้าประเวณีหรือซ่องโสเภณีมิได้หวงห้ามผู้หนึ่งผู้ใดที่จะไปหาความสุขกับหญิงโสเภณี หรือไปธุระอื่นที่จะเข้าไปในห้องโถงซึ่งใช้เป็นที่รับแขกในสถานการค้าประเวณีหรือซ่องโสเภณีนั้นห้องโถงจึงเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้เป็นสาธารณสถานไม่ใช่ที่รโหฐาน พนักงานตำรวจมีอำนาจค้นและจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93,78(3) จำเลยมีและใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140, 289(2),80,52(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2517 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตไว้ในครอบครอง เจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำผิดจึงเข้าทำการจับกุม จำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และมีเจตนาฆ่าโดยใช้อาวุธปืนยิงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจำเลยกระทำไปตลอดแล้ว แต่กระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ เจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่ถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลคลองขลุงอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 140, 278, 289(2), 80, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2, 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 และขอให้ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานไม่มีอำนาจจะค้นในเคหสถานได้โดยไม่มีหมายค้น จำเลยมีสิทธิต่อสู้ป้องกันตัวได้แต่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 จำคุก 6 เดือน และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 69 ให้จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 6 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 3 เดือน ของกลางริบ

โจทก์อุทธรณ์ว่า สถานการค้าประเวณีหรือซ่องโสเภณีที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับจำเลยไม่ใช่ที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจค้นและจับกุมจำเลยได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า สถานที่ใดจะเป็นสาธารณสถานหรือไม่นั้นไม่ต้องคำนึงว่าสถานที่นั้นจะเป็นสถานที่ผิดกฎหมายเช่นสถานการค้าประเวณีหรือซ่องโสเภณีอย่างคดีนี้หรือไม่ เพียงแต่พิจารณาว่าสถานที่นั้นประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้หรือไม่ และต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ไป สำหรับซ่องโสเภณีในคดีนี้เป็นห้องแถวยาวมีทางเดินผ่านกลาง สองข้างทางเดินกั้นเป็นห้อง ๆ สำหรับคนมาเที่ยวเข้าไปหลับนอนกับหญิงโสเภณี ตอนหัวห้องแถวด้านหน้าเป็นห้องโถง ในห้องโถงมีโต๊ะ มีตะเกียงจุดอยู่ 1 ดวง มีม้ายาวตั้งสำหรับให้ผู้มาเที่ยวนั่งพักผ่อน ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เป็นเวลาที่หญิงโสเภณีรอรับแขกที่มาเที่ยว ประตูห้องโถงเปิด เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตามจำเลยไปที่ซ่องโสเภณีดังกล่าว พบจำเลยยืนอยู่ที่ประตูทางเข้าห้องโถง พอจำเลยเห็นเจ้าพนักงานก็หลบเข้าไปนั่งที่ม้ายาวในห้องโถง เจ้าพนักงานตำรวจตามจำเลยเข้าไป ไม่ปรากฏว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดออกมาห้ามจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้เข้าไป เห็นได้ว่าเจ้าของสถานการค้าประเวณีหรือซ่องโสเภณีแห่งนี้มิได้หวงห้ามผู้หนึ่งผู้ใดที่จะไปหาความสุขกับหญิงโสเภณี หรือไปธุระอื่นที่จะเข้าไปในห้องโถงนั้น ห้องโถงซึ่งใช้เป็นที่รับแขกในขณะนั้นจึงเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และเป็นสาธารณสถานไม่ใช่ที่รโหฐาน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะทำการตัวจำเลยในห้องโถงของซ่องโสเภณีโดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่าสงสัยจำเลยเป็นคนร้าย เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจค้นและจับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 93 และ 78(3) และจำเลยย่อมมีความผิดฐานมีและใช้อาวุธปืนต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

ส่วนข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3, 4 ยกเว้นโทษจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ

พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140, 289(2), 80 ประกอบด้วยมาตรา 52 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2), 80 ประกอบด้วย มาตรา 52 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงให้จำคุก 25 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share