แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่จำเลยตายเสียก่อนได้รับสำเนาฟ้องอุทธรณ์นั้น จะดำเนินต่อไปก็ได้เมื่อได้มีผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ และศาลจะต้องมีคำสั่งอนุญาตด้วย
การคุ้มครองที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2493 ในกรณีที่จะบังคับไม่ให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าและขับไล่ผู้เช่าออกจากที่นานั้น จะมีได้ก็แต่ในระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีอายุอยู่เท่านั้น
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือเมื่อผู้ให้เช่าเป็นโจทก์ฟ้องแม้จำเลยให้การรับว่าได้เป็นผู้เช่าแต่ต่อสู้ไม่ยอมออกจากที่เช่านั้น หาใช่หลักฐานเป็นหนังสืออันโจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างได้ไม่
ย่อยาว
คดี 8 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องมีใจความว่าจำเลยทั้ง 8 สำนวนต่างเช่านาของโจทก์โดยไม่มีสัญญาเช่ามาเป็นเวลา 10 ปี จำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์บอกเลิกการเช่าแล้ว แต่จำเลยไม่ออกจากที่นา ขอให้บังคับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง 8 สำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ขับไล่จำเลยทั้ง 8 สำนวนพร้อมทั้งบริวารออกจากนาที่เช่าและให้จำเลยใช้ค่าเช่ากับค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้ง 8 สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อปรากฏว่านางสายจำเลยได้ตายเสียก่อนได้รับสำเนาฟ้องอุทธรณ์เช่นนี้ คดีจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อได้มีบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ และศาลจะต้องมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนตามนัย มาตรา 42 และ 43 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีที่นางสายเป็นจำเลยไปนั้น จึงเป็นการมิชอบ
สำหรับคดีอื่นอีก 7 สำนวนนั้น เห็นว่าการคุ้มครองที่จะได้รับตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ในกรณีที่จะบังคับไม่ให้ผู้ให้เช่าให้ผู้เช่าเลิกใช้หรือเลิกรับประโยชน์จากนาที่เช่า คือ ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่าและขับไล่ผู้เช่าออกจากที่นานั้น จะมิได้ก็แต่เฉพาะในระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีอายุอยู่เท่านั้น อายุแห่งสัญญาเช่าที่ทำไว้ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาในคดีที่โจทก์ฟ้องนี้ กฎหมายให้มีอายุต่อไปได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกา การเช่านาของจำเลยทุกรายจึงได้รับความคุ้มครองมาเพียง พ.ศ. 2499 การที่จำเลยยังคงใช้และรับประโยชน์จากนาที่เช่าต่อมา จึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลาซึ่งผู้ให้เช่าคือโจทก์ อาจบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การเช่าทั้ง 7 รายนี้ โจทก์บอกเลิกเมื่อก่อนฤดูทำนา พ.ศ. 2502 ฉะนั้น คดีเหล่านี้จึงมิใช่กรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวแก่ข้อเท็จจริงหรือการใช้สิทธิตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2493 โจทก์ไม่ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการอำเภอวินิจฉัยก่อน
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าที่ค้างชำระจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า เพียงแต่การที่จำเลยให้การรับว่าได้เป็นผู้เช่านาโจทก์จริง โดยต่อสู้ไม่ยอมออกจากนาที่เช่าหาเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของโจทก์ตามฟ้องซึ่งเมื่อฟ้องนั้นไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออันศาลจะบังคับให้โจทก์ตามฟ้องนั้นได้ กล่าวคือ ในเวลาที่โจทก์ฟ้องร้องให้บังคับคดีนั้นหามีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดไม่ ในกรณีนี้ เมื่อผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กรณีก็ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กล่าวคือ โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีเรียกค่าเช่าที่ค้างนั้นหาได้ไม่ โจทก์คงเรียกร้องได้แต่เพียงค่าเสียหายที่จำเลยไม่ยอมออกจากนาที่เช่าตั้งแต่วันบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่า
พิพากษาแก้เป็นว่า คดีที่นางสายเป็นจำเลย ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่บังคับแก่นางสายนั้นเสีย ให้ศาลอุทธรณ์จัดการดำเนินคดีนี้เสียใหม่ ให้ขับไล่จำเลยทั้ง 7 สำนวนพร้อมทั้งบริวารออกจากนาที่เช่า และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ส่วนค่าเช่าที่ค้างเป็นอันไม่ต้องชำระ