คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันรักษาความลับในทางการค้าได้ จำเลยเป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าได้ เมื่อพิจารณาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพพนักงานภายในหนึ่งปี จำเลยจะไม่เป็นพนักงานนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน กำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่หนึ่งปีเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งผลประโยชน์ดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อย่างไรก็ตามข้อตกลงที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงิน 500,000 บาท นั้นเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยได้ทำสัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ หรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยจะไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานงของนิติบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตามในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกัน หรือคล้ายกันกับโจทก์ หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ จำเลยไม่ดำเนินการลงทุน หรือมีส่วนได้เสียโดยไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในกิจการใด ๆ ไม่ว่ากิจการนั้นจะเป็นของผู้ใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภท หรือชนิดเดียวกัน หรือคล้ายกันกับโจทก์ หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ หากจำเลยผิดสัญญายอมให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าปรับ 500,000 บาท ต่อมาจำเลยลาออกจากบริษัทโจทก์ไป จากนั้นจำเลยไปเป็นพนักงานบริษัทกรีนสลิลล์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตเครื่องสำอาง อันเป็นลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกันกับโจทก์ ก่อนพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องเสียค่าปรับแก่โจทก์ 500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าปรับดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โดยเมื่อแผนกวางแผนได้กำหนดวัตถุดิบ ขั้นตอน และวิธีการผลิตแล้ว ฝ่ายผลิตมีหน้าที่ผลิตตามขั้นตอนและวิธีการที่ฝ่ายวางแผนกำหนด โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโจทก์จะกำหนดเป็นรหัส พนักงานฝ่ายผลิตรวมทั้งจำเลยจะไม่ทราบว่าวัตถุดิบดังกล่าวคืออะไร ในการปฏิบัติงานดังกล่าวโจทก์จำเลยทำสัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 กำหนดว่า จำเลยขณะที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุอันใดก็ตาม ภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยจะไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทชนิดเดียวกัน หรือคล้ายกันกับบริษัทโจทก์หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของบริษัทโจทก์ และข้อ 3 กำหนดว่า หลังจากที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์แล้ว จำเลยจะไม่นำความลับ หรือข้อมูลของโจทก์ ไม่ว่าความลับหรือข้อมูลนั้น ๆ จะเกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบในงานของจำเลยหรือไม่ก็ตาม ไปเปิดเผยด้วยวิธีใดก็ตามต่อผู้อื่น หรือนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าผู้อื่นหรือนิติบุคคลนั้น ๆ จะทำการค้าประเภทใดก็ตาม และข้อที่ 5 กำหนดว่า หากจำเลยผิดหรือฝ่าฝืนสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายและยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 500,000 บาท แล้ววินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยนำความลับทางการค้าไปเปิดเผยให้บริษัทอื่นทราบฟังไม่ขึ้น สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงมีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่อาจใช้บังคับได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการเดียวตามอุทธรณ์โจทก์ว่า ข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่ขัดกับพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า เหตุที่โจทก์ต้องทำสัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ เนื่องจากการผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องสำอางย่อมมีข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า เพื่อคุ้มครองความลับทางการค้าโจทก์จึงให้พนักงานของโจทก์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องสำอางในระดับหัวหน้าทุกคนลงนามในข้อตกลง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและไม่ได้ขัดกับพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เห็นว่า บริษัทโจทก์ผลิตเครื่องสำอางซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ เมื่อพิจารณาสัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงาน หรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามภายในหนึ่งปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์นั้น เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่หนึ่งปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนยุติว่า หลังจากจำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ภายใน 1 ปี แล้วไปทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะทางการค้าคล้ายกัน จึงมีลักษณะเข้าเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง อย่างไรก็ตามข้อตกลงในสัญญาที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน 500,000 บาท นั้น ย่อมเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้หรือโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายนั้นเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี
พิพากษากลับ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องค่าเสียหายตามสัญญาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share