แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาของผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 742 ตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1837, 1838 ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองมิใช่บริวารของจำเลยที่ 2 ไม่อาจบังคับขับไล่ผู้ร้องทั้งสองได้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองในส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1837 และ 1838 ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนบ้านเลขที่ 12/13 เป็นของผู้ร้องที่ 1 และบ้านเลขที่ 55/2 เป็นของผู้ร้องที่ 2 ให้ผู้ร้องทั้งสองรื้อย้ายบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้น ให้ผู้ร้องทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมให้ 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1837 พร้อมบ้านเลขที่ 12/13 ส่วนผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1838 พร้อมบ้านเลขที่ 55/2 เดิมที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 742 ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างนางทิพอวนกับร้อยตำรวจโทอภัย มารดาและบิดาของผู้ร้องทั้งสอง นางทิพอวนและร้อยตำรวจโทอภัยยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสองโดยวิธีส่งมอบการครอบครอง ผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ปักแนวรั้วไม้แก่นเป็นอาณาเขตปลูกบ้านพักอาศัยตั้งแต่ปี 2530 นางทิพอวนมารดาผู้ร้องทั้งสองได้จดทะเบียนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 742 ให้แก่จำเลยที่ 2 รวมทั้งที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องทั้งสอง การซื้อขายระหว่างมารดาผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เสียแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า บ้านเลขที่ 12/13 เป็นของผู้ร้องที่ 1 และบ้านเลขที่ 55/2 เป็นของผู้ร้องที่ 2 และให้ผู้ร้องทั้งสองรื้อย้ายบ้านทั้งสองหลังออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ผู้ร้องทั้งสองรื้อย้ายบ้านทั้งสองหลังออกไปจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ