แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจ่ายเงินค่าครองชีพให้พนักงานที่มีเงินเดือนไม่เกินที่กำหนดไว้โดยเสมอหน้ากัน เป็นจำนวนแน่นอนประจำทุกเดือน มีลักษณะอย่างเดียวกับเงินเดือนของพนักงานเงินค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างหรือเงินเดือน
เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยตามอุทธรณ์ของจำเลยกล่าวเฉพาะ ‘ค่าล่วงเวลา’ และ ‘ค่าชดเชย’ เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึง ‘ค่าทำงานในวันหยุด’ แต่ประการใด จึงนำข้อตกลงนี้มาใช้เป็นหลักในการคำนวณค่าทำงานในวันหยุดของโจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานการประปานครหลวง จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์โดยคำนวณจากเงินเดือนเท่านั้น มิได้นำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานคำนวณค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๓ ให้แก่โจทก์ด้วย ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ตามสิทธิเป็นเงิน ๔๒๖.๕๖ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง จึงนำมาเป็นฐานคำนวณค่าทำงานในวันหยุดไม่ได้ สหภาพแรงงานการประปานครหลวงเพิ่งจะยื่นข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยให้นำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนในการคำนวณค่าล่วงเวลาโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ เป็นต้นไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ๔๒๖.๕๖ บาท ให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับจำเลยจ่ายให้โจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของจำเลย ซึ่งมีเงินเดือนไม่เกินที่กำหนดไว้โดยเสมอหน้ากันเป็นจำนวนแน่นอนประจำทุกเดือนและตามคำสั่งของจำเลยเรื่องการจ่ายเงินค่าครองชีพ ก็ระบุว่า “ผู้ที่ลาเกินสิทธิหรือขาดงานซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนสำหรับวันลาหรือวันขาดงานให้จ่ายเงินค่าครองชีพลดลงตามส่วน” เห็นได้ว่าเงินค่าครองชีพกับเงินเดือนของพนักงานมีลักษณะอย่างเดียวกันแสดงว่าเงินค่าครองชีพก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือน เงินค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างหรือเงินเดือน
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันให้นำเงินค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนในการคำนวณค่าล่วงเวลาค่าชดเชยโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ เป็นต้นไปตามอุทธรณ์ของจำเลยนั้น กล่าวถึงเฉพาะ “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าชดเชย” เท่านั้นมิได้กล่าวถึง “ค่าทำงานในวันหยุด” แต่ประการใด ฉะนั้น จึงนำข้อตกลงนี้มาเป็นหลักในการคำนวณค่าทำงานในวันหยุดของโจทก์ไม่ได้ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีว่าให้จ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้างของจำเลยที่มีเงินเดือนไม่เกินกำหนด โดยให้มีสิทธิรับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๓ โจทก์ได้รับเงินเดือนไม่เกินที่กำหนดไว้จึงมีสิทธินำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณค่าทำงานในวันหยุดได้
พิพากษายืน