แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคาสินค้าไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าแล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินราคาสินค้าของจำเลยเพิ่มขึ้น เช่นนี้ การชำระเงินเพิ่มภาษีการค้า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ต้องนำบทบัญญัติที่ใช้ในขณะที่จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรมาบังคับ มิใช่บทบัญญัติที่ใช้ในขณะที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระภาษีการค้าตามที่เจ้าพนักงานประเมินให้ชำระ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติให้ผู้นำของเข้าที่ไม่ชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ค้างชำระ และกำหนดไว้ด้วยว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ค้างชำระ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้ สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภาษีที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะ แล้วเมื่อโจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยให้เสียเงินเพิ่มดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกเงินเพิ่มในลักษณะเช่นนี้จากจำเลยอีก ดังนั้น ถึงแม้ว่าเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลนับถึงวันฟ้องจะยังไม่เกินกว่าจำนวนภาษีต้องที่ชำระ ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์จนครบจำนวนภาษีที่ค้างชำระอีกไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อสินค้านำเข้าถึงด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพฯ จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 2 ฉบับ และจำเลยได้รับสินค้าดังกล่าวไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2522 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ทำการตรวจสอบสินค้าและราคาตามที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับแล้ว พบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าไว้ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดและบัตรราคาของกรมศุลกากรที่ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินอากรเมื่อนำเงินประกันที่จำเลยวางไว้หักออก ปรากฏว่าจำเลยจะต้องชำระค่าภาษีอากรเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งผลการประเมินดังกล่าวไปให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมนำเงินไปชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง และไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 20 ของจำนวนอากรที่เสียเพิ่ม เงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินอากรที่จะต้องชำระเพิ่มนับแต่วันที่ได้ส่งมอบของคิดคำนวณถึงวันฟ้อง เงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5ต่อเดือนของเงินภาษีการค้าที่จะต้องชำระคิดถึงวันฟ้อง และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า จึงขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มตามกฎหมายรวมทั้งสิ้น 136,768.61 บาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดต่อปีในยอดเงินของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวม 86,115.32 บาทนับแต่วันฟ้องจนถึงวันจำเลยชำระเงินเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยร่วมกันชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่จะต้องชำระเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 2 ฉบับในยอดเงิน 25,828.17 บาท เป็นเงินเดือนละ 254.28 บาท โดยคิดเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนถึงวันจำเลยชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน175,462.52 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าเดือนละ 254.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 มาตรา 28 ที่ใช้อยู่ในเวลาขณะที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระภาษีการค้าภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน มิใช่ร้อยละ 1 ต่อเดือนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยนำสินค้าเข้ามานั้น… (เห็นว่า) ในการเก็บภาษีการค้าจากผู้ที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร…ในคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2522 โดยจำเลยที่ 1 ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า 2 ฉบับพร้อมกับชำระเงินค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เรียบร้อยแล้วนอกจากนี้ยังวางเงินประกันไว้อีกด้วย จำเลยที่ 1 จึงได้รับสินค้าต่าง ๆ ตามใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับดังกล่าวไปในวันที่ 3 เมษายน 2522 ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ทำการประเมินราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับ และได้ประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้นพร้อมกับแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินภาษีอากรต่าง ๆตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบมาชำระภายในกำหนดตามมาตรา 112 ทวิ เช่นนี้…จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียเงินเพิ่มค่าอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่มนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2522 จนถึงวันที่นำเงินมาชำระและการชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการชำระเงินเพิ่มอากรดังกล่าว คือต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้านับแต่วันที่ 3 เมษายน 2522 จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ ที่ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เพิ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25)พ.ศ. 2525 มาตรา 28 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2525เป็นต้นไป ฉะนั้น จึงต้องนำประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน ในขณะที่จำเลยนำของเข้ามาในปี 2522มาใช้บังคับ…
ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเป็นเงินเพิ่มภาษีการค้าเดือนบะ 391.43 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 90 เดือน เป็นเงิน35,228.70 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ยังไม่เกินภาษีการค้าที่ต้องชำระโดยยังขาดอยู่ 3,914.63 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล ยังขาดอยู่เป็นเงิน 391.46 บาท หรือจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับเงินภาษีกาค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติให้ผู้นำของเข้าที่ไม่ต้องชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระอยู่แล้ว และกำหนดไว้ด้วยว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า กฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดไม่ชำระหนี้ภาษีที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะแล้ว แต่โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยให้เสียเงินเพิ่มดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกเงินเพิ่มในลักษณะเช่นนี้จากจำเลยอีก ดังนั้น ถึงแม้ว่าเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลนับถึงวันฟ้องจะยังไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระศาลก็พิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์จนครบจำนวนภาษีที่ต้องชำระไม่ได้…”