แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กำหนดว่า ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกการจ้างงานโดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจและบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงที่ระบุไว้อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานนายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง
การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ นำบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนายจ้างและลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิจะตกลงเกี่ยวกับการเลิกจ้างให้เป็นอย่างอื่นได้ การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ แล้ว จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 ซึ่งให้เลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ 3 กรณี คือสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาและนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 119และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 มิได้มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้าทั้ง 3 กรณีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคท้ายจำเลยจึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเดือนเดือนละ 26,000 บาท และค่าบริการเดือนละ2,000 บาท จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 4 บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 1,344,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 บุคคลทั้งสามจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ต้องร่วมกันใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานทดลองงานมีกำหนด 120 วัน โดยตกลงกันล่วงหน้าว่าหากจำเลยที่ 1 พิจารณาเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกจ้างได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จำเลยที่ 1 อาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าวเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และกรณีไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ไม่มีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2543 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ28,000 บาท กำหนดทดลองงาน 120 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ ต่อมาวันที่ 10กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยคดีได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจ้างที่ให้สิทธิจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ในระหว่างทดลองงานได้ใช้บังคับได้เพราะในช่วงทดลองงาน นายจ้างเป็นฝ่ายประเมินผลงานว่าสมควรจ้างลูกจ้างต่อไปหรือไม่ แต่จำเลยที่ 1 ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง เมื่อไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าหากจำเลยที่ 1 เห็นว่า ผลงานของโจทก์ไม่น่าพอใจก็เลิกจ้างในช่วงทดลองงานได้ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 47,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยไม่สืบพยานโจทก์และพยานจำเลย เพียงแต่ให้คู่ความรับข้อเท็จจริงทำให้โจทก์ไม่สามารถสืบพยานให้ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจนั้นไม่เป็นความจริง และจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีการประเมินผลงานของโจทก์ในระหว่างทดลองงานหรือไม่และผลการประเมินไม่เป็นที่พอใจจำเลยที่ 1 อย่างไร การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความพอวินิจฉัยคดีได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แต่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลแรงงานกลางต้องสั่งให้สืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อ 5 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างสามารถเลิกจ้างสัญญาจ้างในระหว่างทดลองงานได้หากเห็นว่าผลงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ หมายความว่าจำเลยที่ 1 ต้องมีการประเมินผลงานของโจทก์และแจ้งให้โจทก์ทราบถึงผลการประเมินว่าเป็นอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ปรับปรุงการทำงานให้เป็นไปตามความต้องการของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีการประเมินผลงานของโจทก์หรือไม่ และผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจอย่างไร แล้วจำเลยที่ 1 กลับเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจ จึงเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้างโดยไม่สุจริต เมื่อจำเลยที่ 1 นำสืบไม่ได้ว่ามีเหตุชอบธรรมในการเลิกจ้างโจทก์และไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดใด ๆ ต่อจำเลยที่ 1 อันเป็นสาเหตุให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้ จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน หากโรงแรมฯ (จำเลยที่ 1)ได้พิจารณาเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของท่าน (โจทก์) ไม่เป็นที่น่าพอใจหรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม โรงแรมฯ มีสิทธิที่จะยกเลิกการจ้างงานโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า และท่านไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินค่าชดเชยแต่อย่างใดทั้งสิ้น” หมายความว่าในระหว่างทดลองงานหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจจำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจจึงบอกเลิกสัญญาจ้างตามสัญญาจ้าง ข้อ 5 อันเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงที่ระบุไว้ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ข้อ 2.1 และ 2.2 ว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูกเป็นวรรคสองและวรรคสี่) นั้น ต้องเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเท่านั้น ส่วนสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อ 4 ได้กำหนดระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2543 สิ้นสุดในวันที่ 27กรกฎาคม 2543 จึงไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างจำเลยที่ 1 สามารถบอกเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ เห็นว่า ระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน ตามสัญญาจ้าง ข้อ 4 นั้นหมายถึงนายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานนายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใดจึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17วรรคสอง
ปัญหาว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างในระหว่างการทดลองงานดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมนั้นบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541นำบทบัญญัติมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้ การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้วจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ซึ่งได้บัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้สามกรณีคือกรณีแรกสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีที่สองและที่สามเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 17 วรรคท้ายคือนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 119และนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โดยบทบัญญัติมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มิได้มีข้อยกเว้นไว้ว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คดีนี้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้าเหตุกรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสุดท้าย ดังนั้น จำเลยจึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน