คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2360/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยไม่เพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นกรณีที่พิจารณาเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีอาญา ดังนี้ การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งแล้วว่าให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลย และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้วส่งมายังศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้องเพราะเป็นอุทธรณ์ข้ามลำดับของศาล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง, 57, 91, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 100,000 บาท เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 13 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งและหนึ่งในสาม ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 8 ปี 10 เดือน 20 วัน และปรับ 66,667 บาท รวมจำคุก 8 ปี 18 เดือน 20 วัน และปรับ 66,667 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ยกคำขอริบรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องว่า ภายหลังที่คดีถึงที่สุดแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยและกำหนดโทษจำเลยใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยยื่นคำร้องขออุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสำเนาให้โจทก์พร้อมสำเนาอุทธรณ์ จะคัดค้านประการใดให้แถลงเข้ามาภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้อุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยไม่เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น เป็นกรณีที่พิจารณาเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีอาญา ดังนี้ การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลย และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้วส่งมายังศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้องเพราะเป็นการอุทธรณ์ข้ามลำดับของศาล
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องขออุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งอุทธรณ์ของจำเลยไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป

Share