คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11863/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 504,309.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยมิได้พิพากษารวมค่ายกรถจำนวน 11,000 บาท เข้าไปด้วย ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้ง ทำให้คำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ไร้ผล และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 อันเป็นวันทำละเมิด ซึ่งเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ที่ขอบังคับนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 831,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 391,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 504,309.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า นายแดงรุ่ง เป็นลูกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 4860 สมุทรสงคราม นายโทน เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 1278 สมุทรสงคราม รถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ที่มีนายแดงรุ่งเป็นผู้ขับกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 1 ที่มีนายโทนเป็นผู้ขับ เกิดการเฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้นายแดงรุ่งได้รับอันตรายสาหัส นายโทนถึงแก่ความตาย และรถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งสองคันได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์โดยต้องใช้เวลานาน 3 เดือน และจ่ายค่าซ่อมแซมไปแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้ไม่ได้มีการชี้ขาดในทางอาญา ไม่มีการฟ้องนายโทนเนื่องจากนายโทนถึงแก่ความตายอันทำให้คดีอาญาระงับ จึงไม่สามารถพิสูจน์ความผิดว่าความประมาทเกิดจากนายโทน ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่ร้อยตำรวจโทมนูศักดิ์ พนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดทำ ประกอบกับคำเบิกความของนายแดงรุ่งผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ เชื่อว่านายโทนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นตามรถยนต์บรรทุกสิบล้ออีก 2 คัน เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุรถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งสองคันหยุดรถอย่างกะทันหัน โดยแต่ละคันมีร่องรอยห้ามล้อยาว 15 เมตร และ 16.50 เมตร ตามลำดับ อยู่ในทางเดินรถของนายโทน แต่นายโทนไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงหักหลบไปทางด้านขวาแล้วชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่นายแดงรุ่งขับสวนทางมาในทางเดินรถของนายแดงรุ่ง จึงรับฟังได้ว่าเหตุที่ชนกันเกิดจากความประมาทของนายโทน ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้นายโทนลูกจ้างออกไปทำงาน แต่นายโทนกลับขับรถออกไปนอกเส้นทางที่ว่าจ้าง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปที่เกิดเหตุอยู่ในเวลาทำงานในทางการที่จ้างเพราะตั้งแต่จำเลยที่ 2 ใช้ให้นายโทนขับรถไปบรรทุกทราย นายโทนยังไม่ได้กลับไปยังที่ทำการของจำเลยที่ 1 หรือกลับไปยังจุดที่ส่งทรายแม้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่นายโทนออกนอกเส้นทางที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้ไปในทางการที่จ้างก็ยังถือว่านายโทนอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่การงานในทางการที่จ้าง จำเลยทั้งสองที่เป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้าง ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าซ่อมแซมและค่าขาดประโยชน์ของรถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์สูงเกินกว่าความเป็นจริง ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์มีความเสียหายที่ด้านหน้าแสดงว่าเป็นการชนอย่างแรงย่อมกระทบกระเทือนไปยังกระบะบรรทุกได้ รายการซ่อมที่ปรากฏจึงเป็นการซ่อมแซมตามความเสียหายที่แท้จริง เมื่อพิจารณารายการอะไหล่ ประกอบกับบัญชีค่าใช้จ่ายเอกสารที่ระบุไว้ว่า ค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 369,309.19 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดประโยชน์ปรากฏว่า โจทก์มีอาชีพค้าขายวัสดุก่อสร้างประเภทหิน ทราย โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า จึงเห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ในอัตราวันละ 1,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 135,000 บาท ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้พิพากษารวมค่ายกรถจำนวน 11,000 บาท เข้าไปให้แก่โจทก์ด้วย ทั้งที่ค่าเสียหายในส่วนนี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้ง ทำให้คำพิพากษาและคำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลชั้นต้นไร้ผล และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 อันเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไป ซึ่งเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ที่ขอบังคับนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง กรณีปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 515,309.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share