คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ตำราเรียนภาษาอังกฤษรายพิพาทนั้นโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยปลอมแปลงลอกเลียนออกจำหน่าย เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้เป็นการบรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพ.ศ.2474 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่
พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 24 อันเป็นบทบัญญัติอยู่ในส่วนแพ่ง คือส่วนที่ 4 ว่าด้วยสิทธิแก้ในทางแพ่งซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์บัญญัติว่า “คดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้นท่านมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันละเมิด” จึงต้องใช้อายุความสามปีดังกล่าวมาบังคับ จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์คือขายหนังสือที่คัดลอกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2516 คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดดำเนินการขายหนังสือบริษัทลองแมน กรุ๊ป (ตะวันออกไกล) จำกัด จดทะเบียนในประเทศอังกฤษได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง บริษัทลองแมนฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตำราเรียนภาษาอังกฤษหลายเล่ม ซึ่งเดิมโจทก์ซื้อมาจำหน่ายเองและมีร้านขายหนังสืออื่นรับไปจำหน่าย รวมทั้งร้านจำเลยต่อมา พ.ศ. 2515 บริษัทลองแมนฯ ได้มอบให้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2515 โจทก์สังเกตว่าการจำหน่ายตำราเรียน 3 เล่มชื่อคอมมอน มิสเทคส์ อิน อิงก์ลิช, ลิฟวิ่ง อิงก์ลิช สตรัคเจอร์ ฟอร์สกูลส์ และไกเด็ดคอมโพซีซั่น เอกเซอไซเสส ตกต่ำลงไปอย่างผิดสังเกต เมื่อส่งคนออกสืบตลาดจึงทราบว่าที่ร้านของจำเลยจำหน่ายตำราเรียน 3 เล่มนี้ โดยปลอมแปลงลอกเลียนไปจากตำราเรียนของบริษัทลองแมนฯ จำเลยขายโดยรู้ว่าเป็นวรรณกรรมทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทลองแมนฯ ทำให้บริษัทลองแมนฯ เสียหายเพราะจำหน่ายตำราเรียนดังกล่าวไม่ได้คิดเป็นเงิน 118,061 บาท 50 สตางค์ หนังสือของแท้ 3 เล่มคือหนังสือหมาย ก.ข.ค. หนังสือปลอม 3 เล่มคือหนังสือหมาย ง.จ.ฉ. ท้ายฟ้อง จำเลยปลอมแปลงลอกเลียนออกจำหน่ายมีข้อความเหมือนตำราของบริษัทลองแมนฯ ทุกประการ รวมตลอดถึงชื่อและเครื่องหมายการค้าด้วยแต่มีลักษณะแตกต่างเช่นใช้กระดาษคุณภาพเลวกว่าการเย็บเล่มของจริงเย็บถี่ของปลอมตัดสันทากาวหรือไม่ก็ใช้ลวดธรรมดาเย็บการพิมพ์ไม่เรียบร้อย ตัวหนังสือและภาพเลอะเลือน สีไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือจำเลยขายตำราที่จำเลยปลอมแปลงลอกเลียนในราคาต่ำกว่า โจทก์เพิ่งรู้การละเมิดของจำเลยเมื่อวันที่20 มีนาคม 2515 จึงรายงานให้บริษัทลองแมนฯ ทราบ และได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ดังกล่าว ขอให้พิพากษาห้ามจำเลยจำหน่ายตำราเรียนภาษาอังกฤษอันละเมิดลิขสิทธิ์ 3 เล่มตามฟ้อง ให้จำเลยส่งสำเนาจำลองละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดซึ่งมีอยู่ที่จำเลยให้แก่โจทก์ รวมทั้งแม่พิมพ์ที่ได้ใช้ในการทำให้เกิดสำเนาจำลองที่ว่านี้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 118,061 บาท 50 สตางค์ รวมทั้งค่าเสียหายตามความร้ายแรงแห่งละเมิด 81,938 บาท 50 สตางค์ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 200,000 บาท

จำเลยให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องสับสน จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าบริษัทลองแมนฯ กรุ๊ป (ตะวันออกไกล) จำกัด หรือบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจำกัด เป็นโจทก์กันแน่ ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานใดแสดงว่านายดับบลิว.เอ.เอช.เบ็คเก็ทท์ และนายเจ.ดี.วิลเลียมสัน เป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือกระทำการแทนบริษัทลองแมนฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตำราเรียนภาษาอังกฤษหมาย ง.จ.ฉ. ท้ายฟ้องไม่ใช่ตำราเรียนซึ่งจำเลยจัดพิมพ์หรือจำหน่ายค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องนั้นไม่มีเหตุผลและไม่เป็นความจริงเป็นข้อเรียกร้องที่เคลือบคลุม ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้อง ฟ้องไม่เคลือบคลุม คดีไม่ขาดอายุความ ส่วนค่าเสียหายเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 100,000 บาท พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย100,000 บาทแก่โจทก์ ห้ามจำเลยจำหน่ายตำราเรียนภาษาอังกฤษตามฟ้องและให้จำเลยส่งสำเนาจำลองละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดซึ่งมีอยู่ที่จำเลยแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าตำราเรียนภาษาอังกฤษ3 เล่มรายพิพาทนั้น โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยปลอมแปลงลอกเลียนหนังสือ3 เล่ม นั้นออกจำหน่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเช่นนี้ เป็นการบรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 24อันเป็นบทบัญญัติอยู่ในส่วนแพ่งคือส่วนที่ 4 ว่าด้วยสิทธิแก้ในทางแพ่งซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์บัญญัติว่า “คดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ท่านมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันละเมิด” ดังนี้ จึงต้องใช้อายุความสามปีดังกล่าวมาบังคับแก่คดีนี้ และตามฎีกาของจำเลยรับว่าจำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์คือขายหนังสือที่คัดลอกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2516 คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ฎีกาของจำเลยในเรื่องที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่านายดับบลิว.เอ.เอช.เบ็คเก็ทท์ และนายเจ.ดี.วิลเลียมสัน มีอำนาจลงชื่อหรือกระทำการแทนบริษัทโจทก์นั้น เห็นว่าโจทก์สืบได้สมฟ้องว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว

ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องเคลือบคลุม จำเลยไม่อาจแน่ใจได้ว่าใครเป็นโจทก์ที่แท้จริงนั้น เห็นว่าเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าบริษัทลองแมน กรุ๊ป (ตะวันออกไกล) จำกัด เป็นโจทก์ โดยบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์

ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย100,000 บาทนั้นสูงไป ควรกำหนดให้เพียง 50,000 บาทเท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share