แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมซ้ำกับข้อต่อสู้เดิม คำให้การที่ขอเพิ่มเติมจึงไม่เป็นคำให้การที่ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง ข้อเถียง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179(3)
คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมก็ได้.
ย่อยาว
คดีนี้ นายประโพธ เปาโรหิตย์ โดยนายสดับ มาศกุล ผู้รับมอบอำนาจ ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและให้รื้อขนย้ายโรงเรือนออกจากที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า โจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายสดับ มาศกุล ไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์โดยโจทก์ให้จำเลยสร้างเขื่อนและซื้อดินมาถม แล้วโจทก์จะนำสัญญาเช่าไปจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด ๒๐ ปี จำเลยไม่เคยผิดนัดค้างชำระค่าเช่า โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่า จำเลยเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน ขอให้ศาลบังคับโจทก์ให้จดทะเบียนการเช่าตามสัญญา หรือมิฉะนั้นก็ให้โจทก์คืนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถาน และกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็น และได้ไปตรวจสถานที่พิพาทตามคำร้องของคู่ความในวันนั้น หลังจากนั้นศาลได้เลื่อนการสืบพยานจำเลยไปรวม ๕ ครั้ง ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ได้มีการชี้สองสถานแล้ว คำร้องของจำเลยยื่นภายหลังและไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยซ้ำกับข้อต่อสู้เดิมมิได้มีข้อความเพิ่มเติมข้อต่อสู้ใหม่ ประเด็นที่ว่าจำเลยเช่าที่ดินโจทก์หรือไม่ รับกันแล้ว จะต่อสู้เพิ่มเติมว่าไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออีกไม่ได้ ข้อเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้างหรือข้อเถียงเพื่อหักล้างข้อหาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การเพิ่มเติมของจำเลยซ้ำกับข้อต่อสู้เดิม คำให้การที่ขอเพิ่มเติมจึงไม่เป็นคำให้การที่ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง ข้อเถียง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙(๓) ส่วนคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การข้ออื่นเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่มีสาระแก่คดี และไม่เป็นเหตุทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.