คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1877/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ลูกหนี้จะมิได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของผู้ขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
(วรรคนี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2526)
การที่ศาลจะมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้นั้นมิได้มีกฎหมายกำหนดให้ศาลจะต้องรอจนกว่าการอุทธรณ์ฎีกาในเรื่องที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะถึงที่สุดเสียก่อน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจที่จะให้งดสอบพยานของลูกหนี้ได้ถ้าเห็นว่าประเด็นที่จะขอให้สอบไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และได้ส่งหมายเรียกไปตามภูมิลำเนาแล้วแต่ส่งไม่ได้
การที่จะนำพยานหลักฐานใดมาพิจารณาในการทำความเห็นเสนอต่อศาลนั้นเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลยทั้งสาม) เด็ดขาดธนาคารสหมาลายัน จำกัด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๓) ยื่นคำคัดค้านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลว่า ควรให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวน ๔,๕๔๓,๙๐๔.๙๙ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) ให้ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๓) ร่วมรับผิดในจำนวน ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าผู้ที่โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คือลูกหนี้ (จำเลยที่ ๓) ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) หาได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓ แต่ประการใดไม่ จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) จะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับชำระหนี้หรือไม่
ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า แม้ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) จะมิได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่จะต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและแจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๘ และจะต้องรีบนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตลอดจนสอบสวนและทำความเห็นเสนอต่อศาลตามมาตรา ๑๐๔,๑๐๕ กระบวนพิจารณาเหล่านี้ พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ บัญญัติให้ดำเนินเป็นการด่วน ส่วนการที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา ๑๐๖, ๑๐๗ นั้นก็มิได้มีกฎหมายกำหนดให้ศาลจะต้องรอจนกว่าการอุทธรณ์ฎีกาในเรื่องที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะถึงที่สุดเสียก่อน ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับชำระหนี้โดยไม่รอให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงที่สุดเสียก่อนจึงถูกต้องแล้ว
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าประเด็นที่ลูกหนี้จะขอให้สอบนายเม่งเทียม แซ่จาง พยานลูกหนี้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทั้งได้พยายามส่งหมายเรียกไปตามภูมิลำเนาแล้วแต่ส่งไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงใช้ดุลพินิจงดสอบนายเม่งเทียมได้
การทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์จะควรนำพยานหลักฐานใดมาพิจารณาหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งลูกหนี้เองก็มิได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำคำให้การของพยานใดคดีอื่นมาประกอบการพิจารณา ฉะนั้นแม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมิได้นำคำให้การของบุคคลดังกล่าวมาพิจารณาประกอบในการทำความเห็นก็หาเป็นการผิดวิธีพิจารณาแต่ประการใดไม่
พิพากษายืน

Share