คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7373/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยกลฉ้อฉลแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุดรธานีว่า บริษัท อ. ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทและประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2537 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนเป็นจำเลยเพียงผู้เดียว นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุดรธานีจึงจดทะเบียนให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท อ. และให้จำเลยเพียงผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนตามคำขอของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท อ. ดังเดิม จำเลยและจำเลยร่วมให้การว่าจำเลยไม่เคยทำกลฉ้อฉลหรือหลักฐานเท็จ โจทก์พ้นจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท อ. ตามมติที่ประชุม คดีจึงมีประเด็นโต้เถียงกันว่า บริษัท อ. ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทและประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2537 หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท อ. ครั้งที่ 1/2537 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นพิพาทที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 และมาตรา 183 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุดรธานีเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด โดยให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ดังเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายถนอม ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๓๗ ของบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด โดยกลฉ้อฉลได้แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุดรธานีว่า บริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทและได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ ๑/๒๕๓๗ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด เป็นจำเลยเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทเพียงผู้เดียว แล้วจำเลยยื่นคำร้องขอให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุดรธานีจดทะเบียนให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยแต่ผู้เดียวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าว นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุดรธานีดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการแทนบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ดังเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยและจำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยไม่เคยทำกลฉ้อฉลหรือทำหลักฐานเท็จใด ๆ โจทก์ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ตามมติที่ประชุมวิสามัญของบริษัทดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นที่โต้เถียงกันว่า บริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทและได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ ๑/๒๕๓๗ หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ครั้งที่ ๑/๒๕๓๗ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ถูกต้องตามคำฟ้องของโจทก์กับคำให้การของจำเลยและจำเลยร่วม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ และมาตรา ๑๘๓ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่า บริษัทอุดรเพิ่มผล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทและได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ ๑/๒๕๓๗ หรือไม่ ประเด็นดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าไม่มีการประชุมดังกล่าว แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่า ไม่มีการประชุมตามที่โจทก์อ้างตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมในประเด็นข้ออื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

Share