คำวินิจฉัยที่ 9/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๔

วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางมุ่ย นันดี ผู้ฟ้องคดี กับพวกรวม ๕ คน ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทยที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๒/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อปี ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีนำหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๓ หมู่ ๖ (๑๒) ตำบลหนองกุงใหญ่ (หนองโก) อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่นไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ฟ้องคดีต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค.๑ เลขที่ ๑๘๓ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน เนื่องจากเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองกุงสาธารณประโยชน์” ซึ่งทางราชการได้ออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ขก ๒๗๓๗ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินเนื่องจากได้มีการแจ้งการครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าว โดยถูกต้องตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ส่วนที่หนองกุงสาธารณประโยชน์มีการสำรวจในภายหลังเมื่อปี ๒๕๐๑ และมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในปี ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้บุกรุกที่หนองกุงสาธารณประโยชน์ และที่ดินของผู้ฟ้องคดีมิได้ทับซ้อนที่หนองกุงสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ขก ๒๗๓๗ ดังกล่าว และทำการเดินสำรวจใหม่ตามสิทธิที่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการรังวัดและออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นเป็นให้ตรวจรับคำฟ้องตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไป เนื่องจากเป็นกรณีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นกรณีพิพาทที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ระหว่างพิจารณาอธิบดีศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งให้แยกคดีดังกล่าวออกเป็นห้าคดีเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาคดี โดยเป็นคดีนี้และคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๑/๒๕๕๑ ที่ ๑๐๐/๒๕๕๒ ที่ ๑๐๑/๒๕๕๒ และที่ ๑๐๓/๒๕๕๒ และศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) หรือการออกโฉนดที่ดินที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และมีคำสั่งเรียกให้อธิบดีกรมที่ดินในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ให้การในทำนองเดียวกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ขก ๒๗๓๗ ได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ในขณะผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ระหว่างดำเนินการมีผู้ปกครองท้องที่โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว และมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดขอนแก่น (กบร. จังหวัดขอนแก่น) ซึ่งต่อมามีมติให้จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๓ และเลขที่ ๓๒๖ เนื่องจากแจ้งทับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิในที่ดินและเป็นเหตุให้ไม่สามารถพิจารณาออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ พร้อมทั้งแจ้งว่า หากไม่พอใจในคำสั่งให้ไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม คำสั่งดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้มีคำสั่งว่าให้จำหน่าย ส.ค. ๑ ตามที่ผู้ฟ้องคดีเข้าใจ เพราะอำนาจในการอนุมัติจำหน่าย ส.ค. ๑ เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขามีอำนาจหน้าที่เพียงสอบสวนข้อเท็จจริงและตรวจสอบสภาพที่ดินให้ปรากฏแน่ชัดว่าที่ดินแปลงนั้นผู้แจ้งไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่ออนุมัติจำหน่าย ส.ค. ๑ ตามระเบียบเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสอบสวนเพิ่มเติมจึงไม่มีกรณีต้องเพิกถอนคำสั่งให้จำหน่าย ส.ค. ๑ แต่อย่างใด กรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการรังวัดและออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดียังมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากนายอำเภอกระนวนโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ จึงได้มีคำสั่งแจ้งให้ผู้ขอออกโฉนดที่ดิน ไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามฟ้องได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีมีประเด็นพิพาทแห่งคดีว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ “หนองกุงสาธารณประโยชน์” กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นได้ว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องพิจารณาเขตอำนาจของ ศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เมื่อคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบกรณีมีการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและการออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบกรณีมีการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินและการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่อยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอธิบดีกรมที่ดินต้องดำเนินการตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าวของอธิบดีกรมที่ดิน จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครองครองที่ดินตาม ส.ค ๑ ดังกล่าวจากการแจ้งการครอบครองของเจ้าของที่ดินเดิมถูกต้องตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ส่วนที่หนองกุงสาธารณประโยชน์ มีการสำรวจภายหลังเมื่อ ปี ๒๕๐๑ และออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในปี ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีมิได้บุกรุกที่หนองกุงสาธารณประโยชน์หากแต่การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ขก ๒๗๓๗ และทำการเดินสำรวจใหม่ตามสิทธิที่ถูกต้องให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการรังวัดและออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยการออกคำสั่งทางปกครอง และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้โดยการเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการ เพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นที่หนองกุงสาธารณประโยชน์ที่ทางราชการได้หวงห้ามไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้านทั่วไปหรือไม่ นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินที่พิพาทข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า มีสิทธิครอบครองที่ดินในที่ดินพิพาทโดยชอบ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ โต้แย้งว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองกุงสาธารณประโยชน์” จึงเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในที่ดิน แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ให้จำหน่าย ส.ค. ๑ ออกจากทะเบียนและยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการรังวัดและออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้นำหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๓ หมู่ ๖ (๑๒) ตำบลหนองกุงใหญ่ (หนองโก) อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๘๓ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน เนื่องจากเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองกุงสาธารณประโยชน์” ซึ่งทางราชการได้ออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ขก ๒๗๓๗ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ไม่ได้บุกรุกที่หนองกุงสาธารณประโยชน์ และที่ดินของผู้ฟ้องคดีมิได้ทับซ้อนที่หนองกุงสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว และทำการเดินสำรวจใหม่ตามสิทธิที่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ ดำเนินการรังวัดและออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้วที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออกโฉนด ผู้ปกครองท้องที่คัดค้านว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองกุงสาธารณประโยชน์” และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดขอนแก่นมีมติให้จำหน่าย ส.ค. ๑ ดังกล่าว เนื่องจากแจ้งทับที่สาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิในที่ดิน จึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้ได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางมุ่ย นันดี ผู้ฟ้องคดี กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share