คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.สถานบริการฯ มาตรา 3 บัญญัติว่า ใน พ.ร.บ. นี้ “สถานบริการ” หมายความถึง สถานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้าดังต่อไปนี้ (1) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ… แต่ไม่มีบทนิยามคำว่า เต้นรำ ไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่าเต้นรำ หมายความถึง เคลื่อนไปโดยมีระยะก้าวตามกำหนดให้เข้าจังหวะกับดนตรีซึ่งเรียกว่าสีลาศโดยปรกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง รำเท้า ก็ว่า เช่า ฝรั่งรำเท้า ส่วนคำว่าลีลาศ หมายความถึง เต้นรำแบบตะวันตกบางชนิด เช่น ออกไปลีลาศ แสดงว่าต้องมีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศ ฉะนั้น เมื่อคดีได้ความว่าสถานบริการ ด. ที่เกิดเหตุ ไม่มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศได้จึงไม่ใช่สถานเต้นรำตามมาตรา 3 (1) แห่ง พ.ร.บ.สถานบริการฯ แม้นักร้องจะชักชวนลูกค้าให้ร่วมสนุกด้วยโดยลูกค้ายืนเต้นหรือนั่งเต้นตามจังหวะเพลงบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่มก็หาใช่เป็นการจัดให้มีการเต้นรำไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 4, 26 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มี ความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่เกิดเหตุเป็นสถานเต้นรำตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 เห็นว่า พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “สถานบริการ” หมายความถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้าดังต่อไปนี้ (1) สถานเต้นรำ รำวงหรือรองแง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ… แต่ไม่มีบทนิยามคำว่า เต้นรำ ไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่าเต้นรำหมายความถึง เคลื่อนไปโดยมีระยะก้าวตามกำหนดให้เข้าจังหวะกับดนตรี ซึ่งเรียกว่าลีลาศโดยปรกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง รำเท้า ก็ว่า เช่น ฝรั่งรำเท้า ส่วนคำว่า ลีลาศหมายความถึง เต้นรำแบบตะวันตกบางชนิด เช่น ออกไปลีลาศ แสดงว่าต้องมีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศ ฉะนั้น เมื่อคดีได้ความว่าสถานบริการดีสครอเวรีที่เกิดเหตุไม่มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศได้ จึงไม่ใช่สถานเต้นรำ ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แม้นักร้องจะชักชวนลูกค้าให้ร่วมสนุกด้วย โดยลูกค้ายืนเต้นหรือนั่งเต้นตามจังหวะเพลงบริเวณโต๊ะอาหาร หรือเครื่องดื่ม ก็หาใช่เป็นการจัดให้มีการเต้นรำไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share