คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดการ เพราะหากผู้ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินแปลงที่ 28 และแปลงที่ 31 ตำบลหนองตะไก้ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมาและให้ปรับที่ดินให้กลับคืนสู้สภาพเดิมด้วยทุนทรัพย์ของจำเลยและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินอีก กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันบุกรุก (ปลายเดือนธันวาคม 2542) ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,000 บาท และถัดจากวันฟ้องปีละ 60,000 บาท จนกว่าจะออกไปพ้นจากที่ดินของโจทก์และค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินแปลงที่ 28 และแปลงที่ 31 ตำบลหนองตะไก้ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมาและปรับสภาพที่ดินให้คืนสภาพเดิม ทั้งห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับกันว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อมาจำเลยได้เข้าไปไถหน้าดินปลูกมันสำปะหลังจนเต็มพื้นที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งจำเลยได้ซื้อมาจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 ดังนั้น ปัญหาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ดินพิพาทมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อจำเลยแย่งการครอบครองมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองปัญหานี้จำเลยได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การและในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ แต่เป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่าง จำเลยย่อมฎีกาได้สำหรับปัญหานี้เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดการเพราะหากผู้ใดรับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไปและพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share