คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่ ล. ยกให้จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินที่อยู่บริเวณกลางที่ดินของ ล. ไม่ติดทางสาธารณประโยชน์ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ ล. จึงยกที่ดินทางด้านทิศใต้ที่เชื่อมติดทางสาธารณะให้จำเลยที่ 1 แสดงว่า ล. ประสงค์จะให้ใช้เป็นทางออกร่วมกัน การที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์และโจทก์ขอทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 จึงเป็นการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ภาระจำยอมหรือทางจำเป็น เป็นทรัพย์สิทธิที่ติดกับตัวทรัพย์ สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกโดยทั่วไปได้ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และกระทำละเมิดโดยเปิดทางจำเป็นของโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ความว่ากระทำการปิดกั้นทางของโจทก์ในนามส่วนตัวเกินอำนาจหน้าที่หรือกระทำการโดยขัดกับระเบียนหรือนอกขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำในนามจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางเลี๊ยบ เป็นเจ้าของรรมสิทธิที่ดินโฉนดเลขที่ 131 ตำบลบ้านบึง อำเภอบางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี ในปี 2479 นางเลี๊ยบแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกบางส่วนเนื้อที่ 1 งาน 90 ตารางวา เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 8297 แล้วยกให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาได้ขึ้นบัญชีเป็นที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข ชบ 19 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษา โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 เนื้อที่ 2 งาน 33 ตารางวา มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินราชพัสดุของจำเลยที่ 1โดยที่ดินของโจทก์เดิมเป็นของนางเลี๊ยบเช่นกันนางเลี๊ยบได้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 ให้เป็นถนนสาธารณประโยนช์มีลักษณะเป็นรูปทางสามเหลี่ยมอยู่ทางด้านทิศเหนือกว้าง 4 เมตร เพื่อใช้เป็นถนนร่วมกับที่ดินราชพัสดุของจำเลยที่ 1 บางส่วนเพื่อทางเข้าออกจากที่ดินทั้งสองแปลงสู่ทางสาธารณะ นับแต่นางเลี๊ยบยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 นางเลี๊ยบและบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 รายต่อมาได้ใช้ทางดังกล่าวเข้าออกสู่ทางสาธารณะติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีเมื่อนางเลี๊ยบถึงแก่กรรมแล้ว มีผู้ซื้อที่ดินของนางเลี๊ยบมาแบ่งแยกเพื่อขายในปี 2519 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 มาและใช้ทางดังกล่าวเข้าออกสู่ทางสาธารณะตลอดมานอกจากนี้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นภาระจำยอมหรือทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์ เมื่อปี 2539 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ผู้เช่าที่ดินราชพัสดุของจำเลยที่ 1 ได้สร้างรั้วคอนกรีตในทางดังกล่าว คงเหลือทางเข้าออกกว้างเพียง 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์และบริวารไม่สามารถใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 รื้อรั้วออกจากทาง หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ยอมรื้อ ให้โจทก์เป็นผู้ซื้อโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนให้ทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การที่นางเลี๊ยบแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์นั้น ไม่มีผลผูกพันกับที่ดินของจำเลยที่ 1 หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 มาแล้ว โจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและมิได้ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางเข้าออก โจทก์มีทางอื่นเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รื้อรั้วกำแพงที่ปิดกั้นออกจากทางพิพาทและให้จำเลยที่ 1 เปิดทางในที่ดินของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ติดกับทางสาธารณประโยชน์จากทางด้านทิศใต้ที่ติดกับถนนราษฎร์อุทิศ โดยมีความกว้างรวมกับทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว 4 เมตร เหนือขึ้นไปตลอดแนวให้ยกคำขออื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 8297 เนื้อที่ 1 งาน 90 ตารางวา เดิมเป็นของนางเลี๊ยบ ซึ่งได้แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 131 แล้วยกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อปี 2497 ที่ดินที่ยกให้มีรูปลักษณะและอาณาเขตปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 3 ต่อมาได้ขึ้นบัญชีเป็นที่ราชพัสดุหมายเลขทะเบียน ชบ 19 จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลการใช้ที่ดินราชพัสดุให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ 3 ปัจจุบันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ 3 ปัจจุบัน จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินดังกล่าวก่อสร้างเป็นอาคารศูนย์บริการสาธารณสุขส่วนโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยที่ 1 เดิมที่ดินของโจทก์เป็นของนางเลี๊ยบเช่นกัน มีอาณาเขตติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ในปี 2502 นางเลี๊ยบได้แบ่งที่ดินด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 22 ตารางวา ออกเป็นทางสาธารถประโยชน์โดยที่ดินแบ่งออกมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมฐานแคบและยาว อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ปรากฏตามรูปจำลองแผนที่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า โจทก์มีทางออกทางอื่นแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ที่ดินโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่โดยรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกโดยไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดหรือมีคำพิพากษาส่วนใดส่วนหนึ่งวินิจฉัยกระทบถึงสิทธิและหน้าที่ในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่าโจทก์มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาอ้างว่า นอกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 8402 แล้ว โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหมายเลขที่ 243, 244, 245, 246, 249, 357 และ 952 ตามแผนที่สังเขป ซึ่งเดิมเป็นที่ดินโฉนดแปลงเดียวกัน ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทุกแปลงทางด้านหน้าล้วนติดกับถนนราษฎรอุทิศทั้งสิ้น เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 8402 ของโจทก์ดังกล่าวที่มีดินแปลงอื่นล้อมอยู่โดยรอบ ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดติดทางสาธารณประโยชน์ ส่วนทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 4 แม้จะอ้างว่าที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ด้านอื่นไม่จำเป็นต้องผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่พยานเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อ้างส่งเป็นพยานคือ แผนที่ดินพิพาทกับพิมพ์เขียวแผนที่พิพาทไม่ปรากฏว่าพยานเอกสารดังกล่าวระบุให้เห็นว่า ที่ดินของโจทก์มีส่วนใดหรือด้านใดอยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์สำหรับที่ดินที่อ้างว่าเป็นของโจทก์อีก 7 แปลง คือแปลงหมายเลขที่ 243 ถึง 246, 249, 357 และ 952 ก็ไม่ปรากฏว่ามีที่ดินแปลงใดติดทางสาธารณประโยชน์ แต่มีที่ดินของบุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมคั่นอยู่ทุกแปลง ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อ้างมาในฎีกาน่าจะหมายความว่าโจทก์มีทางออก แต่จะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ ส่วนปัญหาที่ว่ามีความเหมาะสมที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อคำนึงถึงรูปลักษณะของที่ดินที่นางเลี๊ยบยกให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จะเห็นว่า ที่ดินที่นางเลี๊ยบยกให้จำเลยที่ 1 นั้นเป็นที่ดินอยู่บริเวณกลางที่ดินของนางเลี๊ยบ ไม่ติดทางสาธารณประโยชน์แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ นางเลี๊ยบจึงยกที่ดินทางด้านทิศใต้เป็นรูปเหลี่ยมลักษณะเป็นเส้นยาวเชื่อมติดทางสาธารณะส่อแสดงเจตนาของผู้ยกให้ว่าให้ใช้เป็นทางเข้าออกให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ที่ดินที่อยกให้ดังกล่าวอยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์รูปสามเหลี่ยมในที่ดินโจทก์ แสดงว่านางเลี๊ยบประสงค์จะให้ใช้เป็นทางออกร่วมกันด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ขอทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเป็นการขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้ว จึงเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เปิดทางจำเป็นแก่โจทก์ให้ผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เปิดทางจำแป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 มีความกว้างรวมกับทางสาธารณประโยชน์ 4 เมตร นั้น ได้ความว่าโจทก์ใช้ประโยชน์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8402 ในปลูกต้นไม้เท่านั้นยังไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินโจทก์มีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน 33 ตารางวา การเปิดทางจำเป็นกว้าง 4 เมตร จึงเกินความจำเป็นที่โจทก์จะต้องใช้ เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 เปิดทางจำเป็นซึ่งเมื่อรวมกับทางสาธารณประโยชน์ในที่ดินโจทก์แล้วให้มีความกว้วง 2.50 เมตร
อนึ่ง ภาระจำยอมหรือทางจำเป็นเป็นทรัพย์สิทธิที่ติดกับตัวทรัพย์ สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกโดยทั่วไปได้ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และกระทำละเมิดโดยปิดทางจำเป็นของโจทก์ได้ แต่สำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งไม่ได้ความว่ากระทำการปิดกั้นทางของโจทก์ในนามส่วนตัวเกินอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนายกเทศมนตรี จึงเป็นการกระทำในนามจำเลยที่ 3 แม้โจทก์จะอ้างมาในคำฟ้องว่าเป็นการฟ้องจำเลยที่ 4 ในตำแหน่งนายกเทศมนตรี ก็เป็นการฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 นั่นเอง อันจะเห็นได้ว่าคดีนี้ โจทก์หาจำต้องฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการของจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะรัฐมนตรีมาด้วยไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 กระทำการโดยขัดกับระเบียบหรือนอกขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 อย่างใด โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รื้อรั้วและให้จำเลยที่1 เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ดินกับทางสาธารณประโยชน์ ตามพิมพ์เขียวแผนที่พิพาทโดยเมื่อรวมกับทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ให้มีความกว้าง 2.50 เมตร ตลอดแนว ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share