แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ และลงลายมือชื่อของผู้ตายไว้แล้วส่วนที่ จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานไม่พร้อมกับพยานอีกคนหนึ่งในพินัยกรรมนั้นก็หาทำให้พินัยกรรมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 เพียงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนพินัยกรรมด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนเท่านั้น หาได้บังคับให้ต้องมีพยาน 2 คน รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันไม่
ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า การที่ผู้ร้องยังคงต่อสู้คดีและดำเนินคดีต่อไปเป็นการคัดค้านแล้วว่า พินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ตายนั้นก็หามีกฎหมายใดบัญญัติดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ และที่ผู้ร้องฎีกาอ้างต่อไปว่า หากฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวจริงก็เป็นการทำขึ้นในขณะสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เพราะมีการยกทรัพย์ที่ได้โอนขายไปก่อนทำพินัยกรรมหรือทำเพราะถูกข่มขู่นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างว่าขณะผู้ตายทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์หรือทำเพราะถูกข่มขู่ แต่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านทั้งสอง อ. และ ส. ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ฎีกาดังกล่าวของผู้ร้องจึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 จึงต้องฟังว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์มิได้ทำเพราะถูกข่มขู่ และมีผลเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิเคราะห์ตามพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับแล้ว มีข้อกำหนดยกทรัพย์มรดกของผู้ตายและที่จะมีต่อไปในภายหน้าให้ผู้คัดค้านทั้งสอง อ. และ ส. บุคคลอื่นขอตัดมิให้รับมรดกและห้ามเกี่ยวข้อง ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายอันมีผลทำให้ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับประโยชน์หรือมีสิทธิใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713
แม้คดีนี้เริ่มคดีโดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความและศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีอันมีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องเป็นฝ่ายแพ้คดีความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมจึงตกอยู่แก่ผู้ร้อง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายกุศล หรือพัฒนมานผู้ตาย กับนางลัดดา บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายได้รับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตรแล้วโดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด ผู้ตายมีทายาทคือผู้ร้อง นางสุดสงวน ภริยาผู้ตาย นางสาวอริยา นายธีรเดช และนางสาวสุชามาส บุตรของผู้ตาย ผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินบำนาญหรือบำเหน็จตกทอดจากกรมทางหลวง การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ร้องไม่ใช่บุตรของผู้ตายหรือบุตรที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว ผู้ตายได้ทำพินิจกรรมยกทรัพย์สินของผู้ตายทั้งที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมและที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และบุตรแล้ว ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งนางสุดสงวน หรือพัฒนมานผู้คัดค้านที่ 1 และนายธีรเดช หรือพัฒนมาน ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัการมรดกของนายกุศล หรือพัฒนมาน ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกุศล หรือพัฒนมาน ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือผู้คัดค้านที่ 2 นางสาวอริยา และนางสาวสุชามาส เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 ผู้ตายถึงแก่ความตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ปัญหานี้ผู้ร้องนำสืบอ้างว่าผู้ร้องว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ปัญหานี้ผู้ร้องนำสืบอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้ว ทั้งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งคำพิพากษาในคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้ร้อง ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่า ผู้ร้องมิใช่บุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วก่อนตายผู้ตายได้ทำพินัยกรรม 2 ฉบับ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2525 และลงวันที่ 4 มิถุนายน 2531 ตามเอกสารหมาย ป.ค.8 และ ค.3 ตามลำดับ ยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดรวมทั้งที่จะมีต่อไปในภายหน้าให้ผู้คัดค้านทั้งสอง นางสาวอริยาและนางสาวสุชามาส กับตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.3 ซึ่งผู้ตายเขียนเองทั้งฉบับกำหนดให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย เห็นว่า แม้ตามคำร้องของผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด แต่ในชั้นสืบพยานผู้ร้องกลับมิได้เบิกความยืนยันว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม เมื่อทนายผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผู้ร้องดูลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.3 ผู้ร้องคงเบิกความเพียงว่าตามเอกสารหมาย ค.3 จะเป็นลายมือชื่อของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทราบ โดยมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตาย นอกจากนี้นางสาวกริสนา พยานผู้ร้องซึ่งเป็นหลานของมารดาผู้ร้องได้เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 ถามค้านว่า ทราบจากผู้ร้องว่า นายกุศลผู้ตายได้ทำพินัจกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านที่ 1 และบุตร 3 คนโดยนางสาวกริสนายืนยันอีกว่า ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านว่าพินัยกรรมไม่ถูกต้อง แต่คัดค้านเพียงว่าไม่มีชื่อผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกในพินัยกรรมของนายกุศล ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองนั้นมีผู้คัดค้านทั้งสองเบิกความประกอบพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ป.ค.8 และ ค.3 ยืนยันว่าผู้ตายทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับขึ้นจริง โดยขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ลายมื่อชื่อผู้ทำพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตายซึ่งแม้ได้ความว่าผู้คัดค้านทั้งสองจะเพิ่งค้นพบพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายก็หาเป็นพิรุธไม่ และผู้คัดค้านทั้งสองยังมีนางสมจิตร พยานในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.3 เบิกความสนับสนุนว่าลายมือเขียนพินัยกรรมและลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.3 เป็นของผู้ตาย อันเป็นการยืนยันว่าผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.3 ขึ้นเองทั้งฉบับ และลงลายมือชื่อของผู้ตายไว้แล้ว ส่วนที่นางสมจิตรลงลายมือชื่อเป็นพยานไม่พร้อมกับพยานอีกคนหนึ่งในพินัยกรรมนั้น ก็หาทำให้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 เพียงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนพินัยกรรมด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนเท่านั้น หาได้บังคับให้ต้องมีพยาน 2 คน รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานผู้คัดค้านทั้งสอง ทั้งทางนำสืบของผู้ร้องก็มีเหตุน่าเชื่อว่าผู้ร้องทราบแล้วว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านทั้งสองนางสาวอริยาและนางสาวสุชามาส ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า การที่ผู้ร้องยังคงต่อสู้คดีและดำเนินคดีต่อไปเป็นการคัดค้านแล้วว่าพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ตายนั้นก็หามีกฎหมายใดบัญญัติดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ และที่ผู้ร้องฎีกาอ้างต่อไปว่า หากฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวจริงก็เป็นการทำขึ้นในขณะที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เพราะมีการยกทรัพย์ที่ได้โอนขายไปก่อนทำพินัยกรรมหรือทำเพราะถูกข่มขู่นั้น เห็นว่า คีดนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างว่าขณะผู้ตายทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์หรือทำเพราะถูกข่มขู่ แต่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ตายทำพินัยกรรม 2 ฉบับ ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านทั้งสอง นางสาวอริยาและนางสาวสุชามาส ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ฎีกาดังกล่าวของผู้ร้องจึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มิได้ทำเพราะถูกข่มขู่ และมีผลเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิเคราะห์ตามพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับตามเอกสารหมาย ค.3 แล้ว มีข้อกำหนดยกทรัพย์มรดกของผู้ตายและที่จะมีต่อไปในภายหน้าให้ผู้คัดค้านทั้งสอง นางสาวอริยาและนางสาวสุชามาส บุคคลอื่นขอตัดมิให้รับมรดกและห้ามเกี่ยวข้อง ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายอันมีผลทำให้ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับประโยชน์หรือมีสิทธิใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาอื่นของผู้ร้องอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้ร้องฎีกาประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้คัดค้านทั้งสองนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้เริ่มคดีโดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความ และศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีอันมีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมจึงตกอยู่แก่ผู้ร้อง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ