คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สถานบริการที่ไม่มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศได้ไม่ใช่สถานเต้นรำตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (1) การที่นักร้องชักชวนลูกค้าให้ร่วมสนุกด้วยโดยลูกค้ายืนเต้นหรือนั่งเต้นตามจังหวะเพลงบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่มก็มิใช่เป็นการจัดให้มีการเต้นรำที่จะทำให้เป็นสถานเต้นรำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันตั้งสถานบริการชื่อ “ดีสครอเวรี” จำหน่ายอาหาร สุรา และเครื่องดื่มอย่างอื่น จัดให้มีการแสดงดนตรี เต้นรำ รำวง เพื่อการบันเทิงเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 4, 26 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับใบรับแจ้งการจัดตั้งสถานบริการตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2525 ประเภทสถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยใช้ชื่อสถานบริการว่า “ดีสครอเวรี” ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสถานบริการดีสครอเวรี พบลูกค้าที่มาใช้บริการบางคนกำลังยืนเต้นตามจังหวะเพลงบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม บางคนนั่งเต้นบนเก้าอี้ข้างโต๊ะดังกล่าว ส่วนบนเวทีมีการเล่นดนตรี เปิดไฟกะพริบมีนักร้องร้องเพลงและชักชวนลูกค้าให้ร่วมสนุกด้วยจึงทำการจับกุม จำเลยทั้งสองแจ้งข้อหาว่าจัดตั้งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (1) ประเภทสถานเต้นรำ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่เกิดเหตุเป็นสถานเต้นรำตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 เห็นว่า พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “สถานบริการ” หมายความถึงสถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้าดังต่อไปนี้ (1) สถานเต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ… แต่ไม่มีบทนิยามคำว่า เต้นรำ ไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า เต้นรำ หมายความถึง เคลื่อนไปโดยมีระยะก้าวตามกำหนดให้เข้าจังหวะกับดนตรี ซึ่งเรียกว่าลีลาศ โดยปรกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง รำเท้า ก็ว่า เช่น ฝรั่งรำเท้า ส่วนคำว่า ลีลาศ หมายความถึงเต้นรำแบบตะวันตกบางชนิด เช่น ออกไปลีลาศ แสดงว่าต้องมีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศ ฉะนั้น เมื่อคดีได้ความว่าสถานบริการดีสครอเวรีที่เกิดเหตุไม่มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศได้ จึงไม่ใช่สถานเต้นรำ ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แม้นักร้องจะชักชวนลูกค้าให้ร่วมสนุกด้วยโดยลูกค้ายืนเต้นหรือนั่งเต้นตามจังหวะเพลงบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็หาใช่เป็นการจัดให้มีการเต้นรำไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share