แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ฟ้องว่า นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปนั้น ลูกจ้างมีสิทธิขอให้นับอายุงานใหม่ติดต่อกับอายุงานเดิม ที่คำนวณถึง วันก่อนวันเลิกจ้างเท่านั้น จะขอให้นับอายุงานระหว่างวันถูก เลิกจ้าง จนถึง วันที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานรวมเข้าไปด้วย หาได้ไม่
ตาม มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ลูกจ้างจะได้รับค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เฉพาะกรณีที่ศาลแรงงานมิได้มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปเพียงประการเดียว เท่านั้น กฎหมายหาได้ กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างตั้งแต่ วันที่ลูกจ้างยื่นฟ้องคดีจนถึง วันที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๖๓/๒๕๒๖ ที่เลิกจ้างโจทก์ แล้วให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้าง สภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยนับอายุงานต่อจากเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายเดือนละ ๒,๒๗๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (กระทำผิดอาญาฐานพยายามฆ่า) และกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยนับอายุงานต่อเนื่องกันเสมือนมิได้มีการเลิกจ้าง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ในระหว่างที่โจทก์ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบันโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย ประกอบกับที่จำเลยมีคำสั่งที่ ๖๓/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ไล่โจทก์ออกจากงานก็เนื่องจากโจทก์ไปกระทำผิดอาญาและศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษาจำคุกโจทก์มีกำหนด ๑๐ ปี อันเป็นเหตุให้จำเลยออกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานดังกล่าวในขณะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนหนึ่งมิได้มีการเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นับอายุงานต่อเนื่องโดยให้รวมระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์มีสิทธิขอให้นับอายุงานติดต่อตั้งแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปโดยไม่มีสิทธินำระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานมารวมด้วยเท่านั้น
ความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นบทคุ้มครองลูกจ้างเพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หากมีการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราที่เคยได้รับอยู่ในขณะที่มีการเลิกจ้างประการหนึ่ง แต่ถ้าศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจที่จะทำงานร่วมกันต่อไปได้ด้วยดีแล้ว ก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ให้นายจ้างรับลูกจ้างนั้นกลับเข้าทำงาน แต่ต้องให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่งชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทน โดยมีหลักเกณฑ์การคำนวณไว้ว่าจะควรให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าเสียหายจากนายจ้างจึงมีเพียงกรณีที่ศาลแรงงานกลางมิได้มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานเพียงประการเดียวเท่านั้น กฎหมายหาได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างตั้งแต่วันที่ลูกจ้างยื่นฟ้องคดีขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานจนถึงวันที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับอายุงานใหม่ของโจทก์ติดต่อกับอายุงานที่คำนวณถึงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันก่อนวันเลิกจ้างเป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง