คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ก็เพราะมีความจำเป็นจะต้องจัดกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่เชื่อถือแก่สาธารณชนตามนโยบายรัฐบาลซึ่งไม่เกี่ยวกับการเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด และไม่มีบทมาตราใดที่ให้จำเลยรับช่วงโอนกิจการของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดมาเป็นของจำเลย ส่วนมาตรา 37 เป็นเรื่องให้ดุลพินิจจำเลยในการรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยตามที่เห็นสมควร มิใช่ต้องรับทั้งหมด โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับ โจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจรับโจทก์เข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่าในการรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานจำเลย โจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยก็มิได้พิจารณารับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2518 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ตำแหน่งผู้อำนวยการ ประมาณต้นปี 2519 โจทก์ถูกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ โจทก์ถูกพักงานระหว่างสอบสวนและดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ระหว่างโจทก์ถูกพักงานได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2520 ให้จัดตั้งจำเลยเพื่อรับช่วงและโอนกิจการสื่อสารมวลชนทั้งหมด และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยรับโอน บรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นพนักงานของจำเลยด้วย โจทก์จึงถูกโอนเป็นพนักงานของจำเลยด้วยต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ย่อมพ้นจากการพักงาน และได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ขอกลับเข้าทำงานแต่จำเลยไม่รับกลับ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลย และให้จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน หากไม่ยอมรับกลับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างระหว่างพักงานพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นพนักงานของจำเลยตามที่เห็นสมควร มิได้บัญญัติให้จำเลยรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ทุกคน จำเลยดำเนินการคัดเลือกพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ที่แสดงความจำนงขอเข้าปฏิบัติงานกับจำเลยเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์มิได้แสดงความจำนงเข้าปฏิบัติงานกับจำเลย และโจทก์กระทำผิดอาญาคณะกรรมการที่บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด แต่งตั้งได้สอบสวนความผิดทางวินัยแล้วปรากฏว่า โจทก์ได้ปฏิบัติส่อไปในทางไม่สุจริตคณะกรรมการจำเลยจึงไม่บรรจุโจทก์เข้าเป็นพนักงาน จำเลยไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายเงินตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด บริษัทดังกล่าวตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์แล้วสั่งพักงาน ต่อมาได้ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ระหว่างโจทก์ถูกพักงานได้มีการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด แล้วมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 เมื่อจัดตั้งองค์การจำเลยแล้วได้มีการพิจารณาคัดเลือกพนักงานและลูกจ้างบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เข้าปฏิบัติงานให้จำเลย โจทก์มิได้ยื่นคำจำนงขอเข้าปฏิบัติงาน โจทก์มิได้ถูกโอนเป็นพนักงานของจำเลยโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 และจำเลยมิได้พิจารณารับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2520 ก็เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องจัดกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่เชื่อถือแก่สาธารณชนตามนโยบายของ รัฐบาล ในการนี้สมควรจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของ รัฐบาล พ.ศ. 2596 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น ตามเหตุผลที่ได้ประกาศดังกล่าวนั้นไม่มีกรณีที่เกี่ยวกับการเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ที่เป็นนายจ้างของโจทก์ และตามบทมาตราต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ไม่มีบทมาตราใดที่จะให้จำเลยรับช่วงโอนกิจการ และหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นของจำเลยดังที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ คงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 37 ว่า”ให้ อ.ส.ม.ท. พิจารณาบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งมีอยู่ ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเป็นพนักงานของ อ.ส.ม.ท. ตามที่เห็นสมควร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นกฎหมายกำหนดไว้เป็นการให้ดุลพินิจจำเลยในการที่จะรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยตามที่เห็นสมควร กล่าวคือจะรับหรือไม่รับคนใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร มิใช่ว่าจะต้องรับทั้งหมด และให้ดำรงตำแหน่งตามที่เห็นสมควรดังที่โจทก์อุทธรณ์ โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับ โจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจรับโจทก์เข้าทำงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า เมื่อมีการพิจารณารับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดมาเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับแล้วนั้น โจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยก็มิได้พิจารณารับโจทก์เข้ามาเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยมาแต่ต้นจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในอันที่จะฟ้องให้จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างระหว่างพักงานจากจำเลยในฐานะนายจ้างได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share