คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2343/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะ เงินค่าที่ดินที่ผู้จะขายรับไว้จากโจทก์ผู้จะซื้อผู้จะขายต้องคืนให้โจทก์ฐานเป็นลาภมิควรได้ หากมีการเรียกเงินดังกล่าวคืนแต่ผู้จะขายไม่คืนให้ต้องถือว่าผู้จะขายตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืน และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องโจทก์ได้เรียกให้ผู้จะขายหรือจำเลยซึ่งเป็นทายาทคืนเงินให้ ต้องถือว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินนับตั้งแต่วันฟ้อง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่จำเลยต้องรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบำรุง พัฒนานันท์ เป็นสามีของจำเลยที่ ๑ และเป็นบิดาของจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ทั้งสองในราคา ๓๕๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ นายบำรุงได้รับเงินมัดจำ ๑๒๐,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ นายบำรุงได้รับเงินมัดจำเพิ่มไปอีก ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมานายบำรุงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมเพราะถือว่านายบำรุงเจตนาที่จะผิดสัญญา การที่นายบำรุงไม่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทสัญญา เป็นการผิดนัดไม่ชำระหนี้ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย เสียเงินมัดจำไป ๑๓๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๑๐ ปี เป็นดอกเบี้ย ๙๐,๐๐๐ บาท และในต้นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๕ ปี เป็นดอกเบี้ย ๓,๗๕๐ บาท รวมเป็นดอกเบี้ย ๙๓,๗๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๒๓,๗๕๐ บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ขณะที่นายบำรุงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองนั้น นายบำรุงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด นายบำรุงไม่มีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาจะซื้อขายมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ และเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนนั้น ให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินมัดจำ ๑๓๐,๐๐๐ บาท คืนให้โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๖ ในต้นเงิน ๗๙,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ ในต้นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ และในต้นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เป็นเงินดอกเบี้ยไม่เกิน ๙๓,๗๕๐ บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินมัดจำ ๑๓๐,๐๐๐ บาท ให้คิดนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระให้นายบำรุงนับตั้งแต่วันที่นายบำรุงได้รับเงินแต่ละจำนวนไว้เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินให้โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะแล้ว เงินที่นายบำรุงได้รับไว้จากโจทก์ทั้งสองที่ชำระเป็นค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็ต้องคืนให้โจทก์ทั้งสองฐานเป็นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๒ และเมื่อโจทก์ทั้งสองเรียกคืนแล้วนายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน ก็ต้องถือว่านายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๕ ซึ่งแปลได้ว่านายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐๓ วรรคแรก และมาตรา ๒๐๔ วรรคแรก ประกอบกับมาตรา ๒๒๔ วรรคแรก เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้เรียกร้องให้นายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองคืนเงินให้ จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยของเงินมัดจำนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้
พิพากษายืน.

Share