แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับมรดกที่พิพาทจากสามี ส. มารดาจำเลยซึ่งดูแลที่ดินแทนจำเลยเข้าไปปลูกถั่วในที่พิพาทโจทก์จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาโจทก์กับ ส. ตกลงกันต่อพนักงานสอบสวนว่า ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำสั่งประการใด ให้ ส. เป็นผู้จัดทำประโยชน์ต่อไปโดยสุจริตข้อตกลงนี้ถือว่าให้ ส. เข้าครอบครองที่พิพาทเพื่อรอฟังคำสั่งศาลเท่านั้น ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำสั่ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสามเพิ่งแย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ เมื่อนางสายมารดาจำเลยที่ 2 ซึ่งดูแลที่ดินแทนจำเลยเข้าไปปลูกถั่วในที่พิพาทเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2518 ซึ่งโจทก์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ตามเอกสารหมาย ล.11 และต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน2518 โจทก์กับนางสายได้ตกลงกันต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมายล.2 ข้อ 3 มีข้อความว่า “ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำสั่งประการใด ควรที่นางสายเป็นผู้จัดทำประโยชน์ต่อไปโดยสุจริต” ข้อตกลงนี้ถือว่าให้นางสายเข้าครอบครองที่พิพาทเพื่อรอคำสั่งศาลเท่านั้น ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำสั่งถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ กรณีนี้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”
พิพากษายืน