คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7250/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เบิกความว่าอย่างไรและความจริงเป็นอย่างไร แล้วบรรยายฟ้องต่อไปถึงการกระทำต่างๆ ของจำเลยแล้วสรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเบิกความโดยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อสาระสำคัญของคดี โดยโจทก์ไม่บรรยายให้เห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าว ประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร เช่นนี้ ศาลย่อมไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์เป็นข้อสำคัญในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จและนำสืบอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 175, 177 และ 180
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องสำหรับความผิดฐานร่วมกันเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จและนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในข้อ 2.1 ว่า จำเลยทั้งสองฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จและนำสืบอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลตามข้อ 2.2 มีข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็ต้องบรรยายว่าคำเบิกความที่เป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยที่ 2 เบิกความอย่างไรและความจริงเป็นอย่างไร แล้วบรรยายฟ้องต่อไปถึงการกระทำต่างๆ ของจำเลยแล้วสรุปว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการเบิกความโดยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดีในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อสาระสำคัญของคดี โดยโจทก์ไม่บรรยายให้เห็นว่าในคดีอาญาดังกล่าวประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร เช่นนี้ศาลย่อมไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์เป็นข้อสำคัญในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จและนำสืบอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share