แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดกาแฟนั้น ถือว่าเป็นการ ‘ผลิต’ ตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แล้ว จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานผลิตเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาต.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต และร่วมกันผลิตเฮโรอีนดังกล่าวจำนวน 10 หลอด อันเป็นส่วนหนึ่งของเฮโรอีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งเฮโรอีนจากเฮโรอีนหลอดใหญ่บรรจุใส่หลอดกาแฟท่อนเล็ก ๆ เพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65 วรรคสอง, 66, 67,102 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่2) พ.ศ. 2522 เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 และฐานผลิตเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยทั้งสามหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามมีกำหนดคนละ 33 ปี 4 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีฟังได้ในเบื้องต้นว่า วันเวลาเกิดเหตุ ขณะจำเลยทั้งสามนั่งอยู่บนตั่ง (เตียง) ในห้องครัวบ้านเกิดเหตุ ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้และยึดเฮโรอีนพร้อมด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ของกลางจากบ้านเกิดเหตุไป มีปัญหาขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตและผลิตเฮโรอีนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยาน 2 ปากคือ ร้อยตำรวจโทธีระพล ทิพย์เจริญ และจ่าสิบตำรวจเกษม บำรุงถิ่นมาเบิกความต้องกันยืนยันว่า จำเลยทั้งสามนั่งอยู่บนตั่งในห้องครัวขณะพยานทั้งสองไปแอบดู เห็นจำเลยที่ 1 เอาเฮโรอีนใส่ลงบนธนบัตรใบละ 100 บาทบรรจุลงในหลอดกาแฟตัดสั้น แล้วส่งให้จำเลยที่ 2 นำไปลนไฟเทียนไขเพื่อปิดหัวท้ายหลอดกาแฟ เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ก็ส่งให้จำเลยที่ 3 รับไว้เมื่อพยานทั้งสองจับจำเลยทั้งสามได้ก็ได้ยึดของต่าง ๆไว้เป็นของกลาง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อทำบันทึกการจับกุม จำเลยทั้งสามรับสารภาพในข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามเอกสารหมาย จ.2ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความแตกต่างกัน เช่น ร้อยตำรวจโทธีระพลเบิกความว่าไปบ้านเกิดเหตุโดยรถยนต์ แต่จ่าสิบตำรวจเกษมซึ่งอ้างว่าไปพร้อมกันกลับเบิกความว่าตนขี่รถจักรยานยนต์ไปนั้น ก็ปรากฏว่าจ่าสิบตำรวจเกษมเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าร้อยตำรวจโทธีระพลไปบ้านเกิดเหตุโดยรถยนต์ ส่วนพยานกับเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งไปด้วยกัน ซึ่งก็หมายถึงว่าขี่รถจักรยานยนต์ล่วงหน้าไปก่อนตามที่เบิกความในตอนแรกนั้นเอง หาได้ขัดกันไม่ และที่จ่าสิบตำรวจเกษมว่าไปถึงพบชายมือปืน 2 คนหน้าบ้านเกิดเหตุ แต่ร้อยตำรวจโทธีระพลว่าไม่พบใครหน้าบ้านที่เกิดเหตุก็ไม่ขัดกัน เพราะร้อยตำรวจโทธีระพลไปถึงทีหลังจ่าสิบตำรวจเกษม และเป็นเวลาที่ชาย 2 คนนั้นหลบไปแล้ว นอกจากนั้นก็มิใช่ข้อแตกต่างอันทำให้ไม่น่าเชื่อพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาถึงบันทึกคำรับชั้นจับกุมจำเลยทั้งสามก็รับสารภาพตามข้อหา ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่าลงลายมือชื่อโดยมิได้ให้อ่านข้อความก่อนนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆไม่มีเหตุผล ถ้าจำเลยทั้งสามจะอ่านเองก่อนลงลายมือชื่อก็ย่อมทำได้ ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนก็คงจดบันทึกตามความเป็นจริง มิได้บังคับขู่เข็ญหรือนำคำให้การอื่นมาให้จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อแต่อย่างใด คดีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า หากศาลฎีกาฟังว่าจำเลยทั้งสามมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองแล้ว ก็เพียงมีไว้โดยมิได้รับอนุญาตเท่านั้นมิใช่เป็นการผลิตนั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดกาแฟสั้นก็เป็นการ ‘ผลิต’ ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แล้ว ฉะนั้น ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น จึงไม่อาจกระทำได้ เพราะศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามกฎหมายซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ยังลดโทษให้อีกหนึ่งในสามด้วย นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.