คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกต้องการไล่ผีปอบออกจากร่างของผู้ตายได้ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกตีผู้ตายล้มลง แล้วใช้ด้ามมีดตีศีรษะผู้ตาย ด้ามมีดทำด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาว 8.5 นิ้วจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ถ้าตีศีรษะผู้ตายโดยแรงและตีนาน ๆย่อมทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จำเลยตีผู้ตายนานถึง 2 ชั่วโมงผู้ตายมีรอยฟกช้ำที่หน้าผาก โหนกแก้ม ศีรษะบวมช้ำแบบศีรษะน่วมความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลยกับพวกจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และเมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการไล่ผีปอบตามความเชื่อและตามประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมา แม้การทำร้ายใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงจนผู้ตายถึงแก่ความตายก็เป็นเรื่องของการไล่ผีปอบ ไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)กรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289 และขอให้ริบด้ามมีดกับไม้ของกลาง ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 วิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289(5) จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289(5) ประกอบด้วยมาตรา 86, 52(1) ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 และจำคุกจำเลยที่ 5 ตลอดชีวิต ลดโทษตามมาตรา 78หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ 5จำคุก 33 ปี 4 เดือน ริบของกลาง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ฎีกาขอให้ลงโทษฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 2 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 จึงยังมีเหตุน่าระแวงสงสัย ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดครั้งนี้ได้ จำเลยที่ 5 ไม่มีความผิด
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 5 กับผู้ตายเคยมีปากเสียงพูดจาดูถูกกันมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 3และที่ 4 กับพวกจะถือมาเป็นสาเหตุทำร้ายผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของพยานโจทก์รวมทั้งพระภิกษุบุดดาและเด็กชายหนูชาติว่า ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายก็โดยเข้าใจว่า ผู้ตายถูกผีปอบเข้า และต้องการจะไล่ผีปอบออกไปจากร่างของผู้ตายเท่านั้น และได้พิเคราะห์การกระทำของจำเลยที่ 3และที่ 4 กับพวกแล้ว ได้ความว่าเมื่อใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกตีผู้ตายล้มลงแล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้ช่วยกันจับแขนและนั่งทับขาแล้วใช้ด้ามมีดตีศีรษะผู้ตายต่อไปอีก ปรากฏว่าด้ามมีดดังกล่าวทำด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาว 8.5 นิ้ว วัดโดยรอบได้ 3.5 นิ้วซึ่งมีน้ำหนักมากพอสมควร จำเลยที่ 3 และที่ 4กับพวกย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าถ้าตีศีรษะผู้ตายโดยแรงและตีนาน ๆย่อมทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4กับพวกตีผู้ตายเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง ผู้ตายเงียบเสียงและถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกจึงหยุดตีตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง ผู้ตายถูกตีมีรอยฟกช้ำที่บริเวณหน้าผากและโหนกแก้มด้านซ้าย ศีรษะโดยทั่วไปบวมช้ำนายแพทย์วีระศักดิ์ พงษ์พัฒนพันธ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอเขมราฐผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่า บาดแผลที่ศีรษะผู้ตายมีลักษณะนุ่มลักษณะเช่นนี้เหมือนอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าตีจนศีรษะน่วมมันสมองด้านซ้ายถูกทำลายไปทั้งแถบเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลยที่ 3และที่ 4 กับพวกและจำเลยที่ 3 ที่ 4 กับพวกย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กันพวกทำร้ายผู้ตายเพื่อไล่ผีปอบตามความเชื่อถือและตามประเพณีของท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมา แม้จะใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง และทำร้ายจนผู้ตายถึงแก่ความตายก็เป็นเรื่องของการไล่ผีปอบ ไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษอันจะถือว่า เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) แต่อย่างใดจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย และพิพากษาลงโทษจำเลยดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและกรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วได้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 วางโทษจำคุกคนละ 20 ปีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือนข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share