คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้นั้น ผู้เสียหายต้องมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ในขอบเขตแห่งการที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัย ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” โดยผลของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ และย่อมส่งผลพลอยทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
การมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วม กับสิทธิของโจทก์ร่วมในการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นหลักการคนละเรื่องกัน และแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องตามมาตรา 44/1 ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณา โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้าน ก็หาตัดอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะยกปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา 44/1 ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยไม่ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะมิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157, 158 จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นาย ป. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 คิดเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดทั้งสิ้น 2,117,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,117,500 บาท นับถัดจากวันที่ 27 มิถุนายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นับตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกคำร้องขอของโจทก์ร่วมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะไปฟ้องหน่วยงานของรัฐใหม่ภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังได้เป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศึกษาในระดับปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน โจทก์ร่วมลงทะเบียนเรียนวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548 ซึ่งมีอาจารย์ผู้บรรยาย 3 คน ประกอบด้วยศาสตราจารย์ ว. นาย ส. เป็นอาจารย์พิเศษ และจำเลยซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย หลังจากโจทก์ร่วมได้เข้าเรียนวิชาดังกล่าวและสอบไล่ปลายภาคแล้ว จำเลยได้รวมคะแนนดิบของอาจารย์พิเศษกับคะแนนดิบที่จำเลยให้แล้วประกาศผลการสอบวิชาดังกล่าวให้โจทก์ร่วมได้เกรด I โจทก์ร่วมจึงยื่นคำขอลงวันที่ 10 เมษายน 2549 ต่อผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์เพื่อขอตรวจดูคะแนน ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้แจ้งศาสตราจารย์ ว. นาย ส. และจำเลยให้โจทก์ร่วมได้ตรวจดูคะแนน หลังจากนั้นโจทก์ร่วมมีหนังสือลงวันที่ 12 เมษายน 2549 และวันที่ 18 เมษายน 2549 อุทธรณ์ผลการสอบวิชาดังกล่าวต่อผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามลำดับ ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 4/2549 ของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์มีมติให้เรียกสมุดคำตอบและคะแนนดิบวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ของโจทก์ร่วมจากอาจารย์ผู้สอนทั้งสามคนมาเพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป และในการประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 สำนักงานบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้รับคะแนนดิบจากศาสตราจารย์ ว. และนาย ส. โดยโจทก์ร่วมได้คะแนนของศาสตราจารย์ ว. 28 คะแนน และของนาย ส. 24 คะแนน รวม 52 คะแนน จากคะแนนเต็ม 66 คะแนน แต่ส่วนจำเลยไม่ส่งคะแนน เนื่องจากจำเลยแจ้งเหตุขัดข้อง สำนักงานบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์จึงไม่สามารถนำเสนอที่ประชุมได้ ที่ประชุมคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์จึงมีมติให้จัดทำข้อมูลเสนอคณบดีคณะนิติศาสตร์เพื่อพิจารณาต่อไป ต่อมาจำเลยมีหนังสือที่ ศธ.0518.02/2398 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ถึงคณบดีคณะนิติศาสตร์ชี้แจงว่า สมุดคำตอบวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยเนื่องจากจำเลยได้จัดส่งไปเก็บที่ห้องเก็บสมุดคำตอบตั้งแต่หลังการสอบและอยู่ระหว่างการค้นหา ส่วนต้นฉบับคะแนนดิบปะปนอยู่กับเอกสารอื่นจำนวนมากและอยู่ระหว่างการค้นหาเช่นกัน จำเลยแจ้งด้วยว่าโจทก์ร่วมเป็นบุคคลที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออาจารย์ผู้บรรยายและเห็นควรจัดให้โจทก์ร่วมสอบแก้ผลสอบที่ได้ I ในวิชาดังกล่าว คณบดีคณะนิติศาสตร์มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์เสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว ต่อมาผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์มีหนังสือที่ ศธ. 0518.20/2790 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2549 รายงานคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่าการที่จำเลยแจ้งข้อขัดข้องเกี่ยวกับการจัดส่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ของจำเลยไม่น่าจะอ้างได้เนื่องจากวิชาดังกล่าวจำเลยเพิ่งจะส่งผลสอบให้สำนักงานบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 และในการประชุมครั้งที่ 6/2549 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากการตรวจหลักฐานเกี่ยวกับการให้คะแนนในวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ในส่วนของศาสตราจารย์ ว. และนาย ส. มีนักศึกษาบางคนขาดสอบ บางคนไม่มีคะแนน (ศูนย์) แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้รวมคะแนนทั้งหมดและเป็นผู้ตัดเกรดกลับให้นักศึกษาได้เกรดอื่นโดยไม่ติดเกรด I แตกต่างจากโจทก์ร่วมซึ่งมีคะแนนของอาจารย์ผู้บรรยายครบทุกคนกลับได้ผลสอบเท่ากับ I เพียงคนเดียว ต่อมาโจทก์ร่วมมีหนังสือถึงผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์แจ้งว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะสอบแก้ผลการสอบที่ได้ I ในวิชาดังกล่าว แต่จะรอผลการพิจารณาอุทธรณ์และมีหนังสือลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับผลการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมกับมีหนังสือถึงประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการร้องเรียนกรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่ไม่ให้โจทก์ร่วมได้ดูคะแนนดิบและสมุดคำตอบที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย แต่จำเลยได้มีหนังสือที่ ศธ.0518.02/ – ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ขอให้อธิการบดีรามคำแหงดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ร่วมตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 หลังจากนั้นจำเลยได้มีหนังสือที่ ศธ.1518.02 พิเศษ ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2549 ชี้แจงคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่าโจทก์ร่วมได้คะแนนรวมในส่วนของจำเลย จำนวน 15 คะแนน แบ่งเป็นคะแนนเข้าชั้นเรียน 3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน คะแนนรายงานกลุ่ม 7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน คะแนนสอบข้อเขียน 5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน แต่เนื่องจากโจทก์ร่วมประพฤติตนก้าวร้าว ไม่เป็นสุภาพชน แสดงมารยาทที่ไม่ดีต่ออาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยนักศึกษา จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 4 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 ประกอบหลักเกณฑ์การวัดผลหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตและหลักสูตรประกาศนียบัตรหักคะแนนโจทก์ร่วม 10 คะแนน ทำให้คะแนนของโจทก์ร่วมในส่วนของจำเลยเหลือเพียง 5 คะแนน เมื่อรวมกับคะแนนในส่วนของศาสตราจารย์ ว. และนาย ส. แล้ว โจทก์ร่วมจึงมีคะแนนรวม 57 คะแนน จำเลยจึงให้โจทก์ร่วมได้เกรด I ในวิชานี้ ฝ่ายโจทก์ร่วมเห็นว่าทางผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจนพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองคือประกาศผลสอบวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ที่ให้โจทก์ร่วมได้เกรด I เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549 โจทก์ร่วมจึงฟ้องมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณบดีคณะนิติศาสตร์ ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ จำเลย และคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ต่อศาลปกครองกลาง โดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองคือ ประกาศผลสอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ในส่วนที่จำเลยให้เกรดโจทก์ร่วมเท่ากับ I ออกจากทะเบียนบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์และคำขออื่นๆ ซึ่งผู้ถูกฟ้องทั้งหมดให้การต่อสู้คดี โดยทางคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงยอมตกลงว่าระหว่างรอทราบผลคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางจะไม่ถือว่าโจทก์ร่วมขาดสอบและไม่กรอกเกรด W ให้โจทก์ร่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 โจทก์ร่วมได้ทราบข้อความในหนังสือลงวันที่ 16 สิงหาคม 2549 ที่จำเลยชี้แจงคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่ามีข้อความหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งน่าทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในวันที่ 17 ตุลาคม 2549 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 162 (1), 326 และ 328 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้โจทก์ร่วมชนะคดีบางส่วนโดยให้เพิกถอนประกาศของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่จัดทำโดยจำเลยในส่วนที่ให้ผลการสอบของโจทก์ร่วมในวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน (LA 634) ภาค 1 ปีการศึกษา 2548 เท่ากับ I ออกจากทะเบียนบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจำเลยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนพยานเพิ่มเติมและร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 158 พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้วดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาดังกล่าว ชั้นสอบสวน จำเลยไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ให้การปฏิเสธ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้คู่ความที่มาศาลฟัง โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืน
พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ก่อนว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีศาสตราจารย์ ส. ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์และรองอธิการบดีฝ่ายนิติการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ โจทก์ร่วมเคยขึ้นมาหาพยานที่ห้องทำงานแจ้งว่าเพิ่งมีเหตุกับจำเลยในห้องเรียน พยานบอกแก่โจทก์ร่วมว่าการจะสอบได้หรือสอบตกไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีเหตุในห้องเรียน แต่ขึ้นอยู่กับการทำข้อสอบข้อเขียนและบอกให้โจทก์ร่วมกลับไป ต่อมาพยานทราบว่าโจทก์ร่วมได้เกรด I ในวิชาของจำเลยอยู่เพียงคนเดียวซึ่งถือว่าสอบตก ครั้นโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอต่อสำนักงานบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์เพื่อขอดูคะแนน จึงมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมครั้งที่ 4/2549 ของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์เป็นวาระที่ 8 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติแจ้งไปยังจำเลยและอาจารย์อีก 2 คน ที่ร่วมกันสอนในวิชาดังกล่าวให้ส่งคะแนนดิบและสมุดคำตอบของโจทก์ร่วม ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 เพื่อจะได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 5/2549 ได้มีการพิจารณาเรื่องที่โจทก์ร่วมขอถ่ายสำเนาบัญชีรายชื่อนักศึกษาที่เข้าเรียนวิชา LA 634 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติให้จัดทำข้อมูลเสนอคณบดีคณะนิติศาสตร์เพื่อพิจารณาต่อไป พยานได้มีหนังสือถึงอาจารย์ผู้สอนซึ่งรวมถึงจำเลยด้วย ให้แสดงสมุดคำตอบและคะแนนดิบในวิชาดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 แต่จำเลยไม่ส่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบให้ ดังนั้น ในการประชุมครั้งที่ 6/2549 ของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์จึงมีการลงมติและลงความเห็นกันว่า การที่จำเลยแจ้งข้อขัดข้องอ้างว่าอยู่ในระหว่างการค้นหาสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบ ทั้งๆที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์กำหนดให้จัดส่งนั้น ไม่น่าจะอ้างได้ เพราะว่าวิชานี้จำเลยเพิ่งจะส่งผลสอบให้บัณฑิตศึกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ส่วนอาจารย์ผู้รับผิดชอบวิชาเดียวกันนี้อีก 2 คน ได้ส่งให้คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยนานแล้ว พยานจึงแจ้งเรื่องของมติและความเห็นดังกล่าวให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ทราบด้วย ดังนี้ เห็นว่า ศาสตราจารย์ ส. เป็นผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีหน้าที่ดูแลการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์โดยตรง และเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามหน้าที่ราชการที่พยานได้ปฏิบัติมาอย่างสมเหตุสมผลและทุกขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ตามคำเบิกความของพยานก็มีเอกสารเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน คำเบิกความของศาสตราจารย์ ส. จึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ ที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาโต้แย้งว่า ตามเอกสารแนบท้ายฎีกาหมายเลข 3 ซึ่งเป็นบันทึกข้อความลงวันที่ 24 เมษายน 2559 และลงวันที่ 13 กันยายน 2559 ระบุตำแหน่งและชื่อพยานว่า “รองศาสตราจารย์ ส. ประธานคณะกรรมการบริหาร โครงการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดอำนาจเจริญ” นั้น ขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานลงวันที่ 13 สิงหาคม 2557 ที่ระบุตำแหน่งและชื่อของพยานว่า “ศาสตราจารย์ ส.” จึงตั้งข้อสังเกตว่าพยานจะใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในการเบิกความต่อศาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือทั้งๆที่ในความเป็นจริงพยานมีตำแหน่งแค่รองศาสตราจารย์นั้น เห็นว่า การที่ตามข้อเท็จจริงที่ว่า นาง ส. พยานจะมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์นั้น หาใช่สาระสำคัญของน้ำหนักคำพยานไม่ เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังคำพยานปากนี้ มิใช่เหตุผลหรือความเห็นในเชิงวิชาการ หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่พยานได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานเคยมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับจำเลยมาก่อน อีกทั้งเป็นการเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามหน้าที่ที่พยานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมีพยานเอกสารสนับสนุนทุกขั้นตอน จึงเป็นพยานบุคคลที่มีน้ำหนักและคุณค่าอันควรแก่การรับฟัง ยิ่งกว่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยังได้ความสนับสนุนคำเบิกความของศาสตราจารย์ ส. อีกว่า โจทก์ร่วมได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ กรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมดูคะแนนดิบ และสมุดคำตอบที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งคณะอนุกรรมการข้อมูลข่าวสารพิจารณาแล้ว ได้สรุปผลการพิจารณาวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุมครั้งที่ 197 – 32/2549 วันที่ 17 สิงหาคม 2549 ว่า กรณีร้องเรียนเรื่องนี้ เนื่องจากกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้กำหนดให้หน่วยงานจะต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบและสามารถค้นหาได้ง่าย การที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแจ้งผู้ร้อง (โจทก์ร่วม) โดยให้เหตุผลว่า สมุดคำตอบได้ค้นหาแล้วไม่พบนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์สอนวิชาบัณฑิตสัมมนาในกฎหมายมหาชน ย่อมทราบถึงภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่หาได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการไม่ เพราะเมื่อโจทก์ร่วมใช้สิทธิขอดูคะแนนดิบในสมุดคำตอบ จำเลยกลับมีพฤติการณ์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบให้ จึงเจือสมกับมติของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2549 ว่า ข้ออ้างของจำเลยที่อ้างว่าอยู่ในระหว่างการค้นหาสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบนั้น จำเลยไม่น่าจะอ้างได้ เพราะวิชานี้จำเลยเพิ่งส่งผลสอบให้บัณฑิตศึกษามาไม่นาน พฤติการณ์แห่งคดีตามพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่ได้วินิจฉัยมาโดยลำดับ จึงมีเหตุผลเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันรับฟังเชื่อถือได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบ อันเป็นเอกสารใดซึ่งเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 ตามฟ้องโจทก์จริง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหานี้หรือไม่แล้วยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยกล่าวอ้างโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นสำคัญว่า หลักเกณฑ์การวัดผลนิติศาสตรมหาบัณฑิตตามเอกสารหมาย จ.39 ที่ศาลอุทธรณ์นำมาวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ แต่ในขณะเกิดเหตุจำเลยปฏิบัติตามเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดผลอยู่ในขณะนั้น โดยหลักเกณฑ์การวัดผลตามเอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในสาระสำคัญ คือ หลักเกณฑ์การวัดผลตามเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุที่จำเลยใช้ปฏิบัตินั้น มีการวางหลักเกณฑ์การวัดผลที่สำคัญระบุว่า “วิชาใดที่มีอาจารย์ตรวจสมุดคำตอบมากกว่า 1 ท่าน ขอความกรุณาอาจารย์ให้เป็นคะแนนดิบก่อน (คะแนนดิบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของอาจารย์แต่ละวิชา) และนำมารวมกันจึงตัดเกรดเป็นตัวอักษร” แต่หลักเกณฑ์การวัดผลตามเอกสารหมาย จ.39 ที่แก้ไขใหม่ได้ตัดข้อความในวงเล็บที่ว่าคะแนนดิบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของอาจารย์แต่ละวิชาออกไป เมื่อขณะเกิดเหตุเป็นช่วงระยะเวลาที่ใช้หลักเกณฑ์การวัดผลเก่าตามเอกสารหมาย จ.40 แต่ศาลอุทธรณ์กลับนำหลักเกณฑ์การวัดผลใหม่ตามเอกสารหมาย จ.39 มาปรับบทวินิจฉัยคดีว่าจำเลยกระทำผิดจึงเป็นการไม่ชอบ โดยอ้างเหตุผลในเชิงวิชาการโต้แย้งไว้ตอนหนึ่งด้วยว่า “การที่จำเลยใช้ดุลพินิจหักคะแนนโจทก์ร่วมตามกรณีพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการกระทำทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามหลักการของกฎหมายมหาชนซึ่งมีหลักการสำคัญว่า “ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำไม่ได้” ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลักเกณฑ์การวัดผลหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตและหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ตามเอกสารหมาย จ.40 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ได้หมายเหตุกำหนดให้อำนาจดุลพินิจแก่อาจารย์ผู้สอนหรืออาจารย์ประจำวิชาในการที่จะใช้อำนาจดุลพินิจเปลี่ยนแปลงปรับลดหรือหักคะแนนนักศึกษาซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้ ดังปรากฏตามบทบัญญัติในหมายเหตุตอนท้ายของเอกสารหมาย จ.40 ว่า “วิชาใดที่มีอาจารย์ตรวจสมุดคำตอบมากกว่า 1 ท่าน ขอความกรุณาให้อาจารย์ให้เป็นคะแนนดิบก่อน (คะแนนดิบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของอาจารย์แต่ละวิชา) แล้วนำมารวมกันจึงตัดเกรดเป็นตัวอักษร” โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้กำหนดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบให้อาจารย์เปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้เป็นกรณีใดบ้าง จึงถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบเป็นดุลพินิจของอาจารย์” เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมโดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า “…ข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ได้กำหนดไว้ในข้อ 9 ว่า นักศึกษาผู้ใดที่ฝ่าฝืนข้อบังคับได้ชื่อว่า กระทำผิดวินัย ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจารย์ อาจารย์พิเศษ เลขานุการคณะหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจเรียกตัวมาตักเตือน หรือจะแจ้งให้คณบดีตักเตือนหรือตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ถ้าการกระทำผิดวินัยเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้คณบดีนำเสนออธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยงดตรวจกระดาษคำตอบกระบวนวิชาหรือทุกกระบวนวิชาและในทะเบียนเรียน ให้ถือเป็นสอบตกในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษนั้น และอาจห้ามลงทะเบียนเรียนต่อไปอีก 2 ภาคการศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นภาคการศึกษาปกติหรือภาคฤดูร้อนก็ได้ ถ้าเป็นการกระทำผิดซ้ำกับกรณีความผิดที่ได้เคยถูกลงโทษมาแล้ว ให้ลงโทษในขั้นที่หนักกว่าเดิมตามที่เห็นสมควร ส่วนหลักเกณฑ์การวัดผลหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตตามเอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การวัดผลและประเมินผลของกระบวนวิชาโดยใช้อักษรระดับคะแนน โดยมีการกำหนดอักษรระดับคะแนน แต้มระดับคะแนนต่อ 1 หน่วยกิต ความหมายและคะแนนดิบ โดยมีหมายเหตุในตอนท้ายของเอกสารหมาย จ.40 ว่า วิชาใดที่มีอาจารย์ตรวจสมุดคำตอบมากกว่า 1 ท่าน ขอความกรุณาอาจารย์ให้เป็นคะแนนดิบก่อน (คะแนนดิบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของอาจารย์แต่ละวิชา) แล้วนำมารวมกันจึงตัดเกรดเป็นตัวอักษร เมื่อพิจารณาถ้อยคำในข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ประพฤติตนเป็นสุภาพชน ไม่ให้เกียรติสถาบันและใช้กิริยาวาจาลบหลู่ผู้สอนตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 ข้อ 4 ข้อ 6 และ ข้อ 8 อันเป็นการกระทำผิดวินัยแล้ว จำเลยคงมีอำนาจเรียกตัวมาตักเตือนหรือจะแจ้งให้คณบดีตักเตือนหรือตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษรได้เท่านั้น จำเลยไม่มีอำนาจลงโทษโจทก์ร่วมด้วยการหักคะแนนโจทก์ร่วมโดยอาศัยข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษาดังกล่าวได้แต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องที่จำเลยเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 9 ด้วยการตักเตือนโจทก์ร่วมในห้องบรรยาย ทั้งต่อมาจำเลยมีหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงผ่านคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่าการกระทำของโจทก์ร่วมในชั้นเรียนเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ขอให้พิจารณาดำเนินการแก่โจทก์ร่วมตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทราบวิธีการลงโทษนักศึกษาที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดีอยู่ว่าจะต้องกระทำอย่างใดบ้าง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยมีสิทธิพิจารณาหักคะแนนโจทก์ร่วมโดยอาศัยหลักเกณฑ์การวัดผลตามเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งให้อำนาจอาจารย์ผู้สอนในการพิจารณาตัดเกรดและใช้ดุลพินิจในการปรับปรุงเพิ่มหรือลดคะแนนอันเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุเพื่อสั่งสอนนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยมีรองศาสตราจารย์ ป. รองศาสตราจารย์ ม. รองศาสตราจารย์ ภ. มาเบิกความสนับสนุนนั้น ขัดแย้งกับข้อบังคับของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 และหลักเกณฑ์การวัดผลและวิธีการวัดผลหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตตามเอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 โดยสิ้นเชิง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157…” ตามเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมนั้น ศาลอุทธรณ์มิได้นำหลักเกณฑ์การวัดผลหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตเอกสารหมาย จ.39 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ภายหลังเกิดเหตุมาอ้างเป็นเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยดังที่จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนและยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด เพราะศาลอุทธรณ์ใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า ตามข้อบังคับดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ประพฤติตนเป็นสุภาพชน ไม่ให้เกียรติสถาบันและใช้กิริยาวาจาลบหลู่ผู้สอน จำเลยเพียงมีอำนาจเรียกตัวโจทก์ร่วมมาตักเตือนหรือจะแจ้งให้คณบดีตักเตือนหรือตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษรได้เท่านั้น กับวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยไว้ชัดเจนด้วยว่า ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิพิจารณาหักคะแนนโจทก์ร่วมโดยอาศัยหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งให้อำนาจผู้สอนในการพิจารณาตัดเกรดและใช้ดุลพินิจในการปรับเพิ่มหรือลดคะแนนอันเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ เพื่อสั่งสอนนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยอ้างพยานบุคคลหลายคนมาเบิกความสนับสนุนนั้น ขัดแย้งกับข้อบังคับของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 และหลักเกณฑ์การวัดผลและวิธีการวัดผลหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตตามเอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 โดยสิ้นเชิง ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เพราะการประพฤติตนไม่เหมาะสมของนักศึกษาเป็นเรื่องวินัยนักศึกษาซึ่งต้องบังคับตามข้อบังคับฉบับดังกล่าว ส่วนหลักเกณฑ์การวัดผลตามเอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 เป็นหลักเกณฑ์การวัดและประเมินผลของกระบวนวิชาที่นักศึกษาสอบไล่ ดังนั้น แม้จะต้องใช้หลักเกณฑ์การวัดผลตามเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุดังที่จำเลยพยายามกล่าวอ้าง และหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 กำหนดให้อาจารย์ผู้ตรวจสมุดคำตอบมีดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้ก็ตาม โจทก์ร่วมก็ไม่ชอบที่จะใช้ดุลพินิจตามหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหักคะแนนนักศึกษาที่กระทำผิดวินัยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างเหตุผลโต้แย้งในเชิงวิชาการว่า การใช้ดุลพินิจหักคะแนนโจทก์ร่วมเป็นการกระทำทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามหลักการของกฎหมายมหาชน และจำเลยใช้อำนาจตามหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งให้อำนาจจำเลยในฐานะผู้สอนที่จะใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงปรับลดหรือหักคะแนนนักศึกษาซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้ นั้น เห็นว่า หลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ที่มีหมายเหตุกำหนดว่า “วิชาใดที่มีอาจารย์ตรวจสมุดคำตอบมากกว่า 1 ท่าน ขอความกรุณาอาจารย์ให้เป็นคะแนนดิบก่อน (คะแนนดิบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของอาจารย์แต่ละวิชา) แล้วนำมารวมกันจึงตัดเกรดเป็นตัวอักษร” เป็นหมายเหตุในข้อความตอนท้ายของหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ซึ่งมีข้อความตอนต้นวางหลักเกณฑ์การวัดผลและประเมินผลของกระบวนวิชาที่มีการสอบไล่ โดยใช้อักษรระดับคะแนน (Letter grade) ดังนั้น แม้หลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 จะมิได้กำหนดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบให้อาจารย์ผู้สอนเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้ในกรณีใดบ้าง ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ขอบเขตของการใช้ดุลพินิจก็คงจำต้องอยู่เพียงเฉพาะเพื่อการวัดผลและประเมินผลการสอบไล่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับวินัยของนักศึกษาที่ต้องบังคับตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ.2522 ซึ่งนอกจากจะมีข้อบังคับให้นักศึกษาต้องปฏิบัติและประพฤติตนอยู่ในกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ในข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 แล้ว ยังมีความในข้อ 9 กำหนดกระบวนการบังคับใช้ข้อบังคับด้วยว่า “…หากนักศึกษาผู้ใดฝ่าฝืน ได้ชื่อว่ากระทำผิดวินัย ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจารย์ อาจารย์พิเศษ เลขานุการคณะ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจเรียกตัวมาตักเตือน หรือจะแจ้งให้คณบดีตักเตือนหรือตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้”
ถ้าการกระทำผิดวินัยนั้น เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้คณบดีนำเสนออธิการบดี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ปรึกษาของสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ให้งดตรวจกระดาษคำตอบบางกระบวนวิชาหรือทุกกระบวนวิชา และในทะเบียนเรียนให้ถือเป็นสอบตกในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษนั้น และอาจห้ามลงทะเบียนเรียนต่อไปอีก 2 ภาคการศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นภาคการศึกษาปกติหรือภาคฤดูร้อนก็ได้
ถ้าเป็นการกระทำผิดซ้ำกับกรณีความผิดที่ได้เคยถูกลงโทษมาแล้ว ให้ลงโทษขั้นที่หนักกว่าเดิมตามที่เห็นสมควร
2. สั่งลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาแล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
ยิ่งกว่านั้น ตามข้อบังคับฯ ข้อ 10 ยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยด้วยว่า “นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัย อาจยื่นอุทธรณ์การลงโทษนั้นต่ออธิการบดีก็ได้ เมื่ออธิการบดีได้รับคำร้องอุทธรณ์แล้วให้เสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณา สภามหาวิทยาลัยอาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยืนตามคำสั่งเดิม หรือยกเลิกคำสั่งนั้นเสียได้”
ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยรามคำแหงฯ ดังกล่าว จะเห็นว่า ข้อกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ประพฤติตนเป็นสุภาพชน ไม่ให้เกียรติสถาบัน และใช้กิริยาวาจาลบหลู่ผู้สอน นั้น เป็นเรื่องกล่าวหาว่า โจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงและโจทก์ร่วมผู้ถูกกล่าวหา อาจมีข้อโต้แย้งว่ามิได้กระทำการดังที่จำเลยกล่าวหาก็ได้ ดังนั้น ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ ข้อ 9 จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีกระบวนการดำเนินการทางวินัยตามลำดับขั้นตอน และการลงโทษตามโทษานุโทษแห่งความผิดวินัยที่นักศึกษาได้กระทำไป กับมีกระบวนอุทธรณ์และวิธีพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้สิทธิแก่นักศึกษาผู้ถูกลงโทษได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การลงโทษต่อสภามหาวิทยาลัยตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ ข้อ 10 ได้อีกด้วย จึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ที่กำหนดให้อาจารย์ผู้ตรวจคำตอบสามารเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้ตามดุลพินิจของอาจารย์แต่ละวิชา เพราะการวัดผลเป็นการประเมินผลการสอบของนักศึกษา อาจารย์ผู้สอนย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการที่จะพิจารณาให้คะแนนดิบ แต่ก่อนตัดเกรดเป็นตัวอักษร หลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 จึงกำหนดหมายเหตุให้อาจารย์ผู้สอนสามารถเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้ตามดุลพินิจ แต่ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบเช่นว่านี้ ย่อมมีขอบเขตเพียงข้อพิจารณาจากผลการสอบของนักศึกษาเพื่อการวัดผลและประเมินผลการสอบของนักศึกษาเท่านั้น อาจารย์ผู้สอนหามีอำนาจนำพฤติการณ์ก้าวร้าว ไม่ประพฤติตนเป็นสุภาพชน ไม่ให้เกียรติสถาบัน และการใช้กิริยาวาจาลบหลู่ผู้สอน อันเป็นความผิดทางวินัยของนักศึกษาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ มาใช้เป็นข้อพิจารณาประกอบดุลพินิจเพื่อเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้ และข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยนักศึกษา จำเลยก็ได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ ข้อ 9 ตักเตือนโจทก์ร่วมในห้องบรรยาย อีกทั้งจำเลยได้ตอบโจทก์ร่วมที่ขออนุญาตศาลถาม ยอมรับว่า จำเลยได้ทำบันทึกข้อความที่ ศธ.0518.02/พิเศษ ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2549 ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงผ่านคณบดีคณะนิติศาสตร์กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ขอให้พิจารณาดำเนินการแก่โจทก์ร่วมตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ เช่นว่านั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหากด้วย อันเป็นข้อบ่งชี้ชัดแจ้งว่า จำเลยทราบดีอยู่แล้วเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการทางวินัยนักศึกษาแก่โจทก์ร่วมว่าจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯอย่างไร แต่จำเลยกลับนำข้อกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยซึ่งโจทก์ร่วมยังโต้แย้งอยู่ดังกล่าว มาใช้เป็นข้อพิจารณาเพื่อใช้ดุลพินิจหักคะแนนดิบโจทก์ร่วมอีก จึงเป็นการลุแก่อำนาจใช้ดุลพินิจเกินขอบเขตที่หลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ให้อำนาจไว้ เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาในประเด็นก่อนแล้วว่า เมื่อโจทก์ร่วมใช้สิทธิขอดูคะแนนดิบในสมุดคำตอบ จำเลยกลับมีพฤติการณ์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบให้ซึ่งเป็นผลให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายซึ่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบ อันเป็นเอกสารใดซึ่งเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้นตามฟ้องโจทก์จริง พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุผลเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันรับฟังเชื่อถือได้แน่แท้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมมีว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 44/1 กำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ นั้น ผู้เสียหายต้องมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลยด้วย แต่เนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังที่ได้วินิจฉัยมาก็อยู่ในขอบเขตแห่งการที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วย จำเลยจึงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” ดังนั้น โดยผลของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ และย่อมส่งผลพลอยทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ และจำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ด้วย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม มาตรา 44/1 ได้ นั้น เห็นว่า การมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วม กับสิทธิของโจทก์ร่วมในการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 44/1 เป็นหลักการคนละเรื่องกัน และแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องตามมาตรา 44/1 ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณา โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านก็หาตัดอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะยกปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา 44/1 ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองไม่ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะมิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอของโจทก์ร่วมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะไปฟ้องหน่วยงานของรัฐใหม่ภายในอายุความนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 อีกกระทงหนึ่ง นั้น เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม โดยหักคะแนนดิบของโจทก์ร่วมโดยไม่ชอบ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์ร่วมใช้สิทธิขอดูสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งสมุดคำตอบและต้นฉบับคะแนนดิบ อันเป็นเอกสารใดซึ่งเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 ซึ่งเป็นเจตนากระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการกระทำกรรมแรก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะปรานีรอการลงโทษให้แก่จำเลยก็ตาม แต่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดอาญาใดๆ มาก่อน อีกทั้งหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งมีหมายเหตุระบุข้อความว่าให้อาจารย์แต่ละวิชาสามารถเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบได้ตามดุลพินิจ โดยมิได้ระบุขอบเขตการใช้ดุลพินิจโดยชัดแจ้ง เป็นเหตุให้ต่อมาภายหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การวัดผลใหม่ตามเอกสารหมาย จ.39 ตัดข้อความที่ระบุว่าให้อาจารย์ผู้สอนมีดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงคะแนนดิบออก อันเป็นข้อบ่งชี้ว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ยอมรับถึงความไม่ชัดเจนของหลักเกณฑ์การวัดผลเอกสารหมาย จ.40 พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุอันควรปรานี ศาลฎีกาเห็นว่า การรอการกำหนดโทษ สำหรับความผิดที่จำเลยได้กระทำทั้งสองกระทง และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการกำหนดโทษ น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่รอการลงโทษให้จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 อีกกรรมหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ให้รอการกำหนดโทษไว้ทั้งสองกระทง มีกำหนดกระทงละ 3 ปี กับให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ปีละ 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่แก้ไขใหม่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share