คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ตกลงรับเงินจากจำเลย 100,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50,000 บาท งวดแรกชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 งวดที่สองชำระภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ส่วนข้อตกลงที่ว่าหากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง (867,765.50 บาท) เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการบังคับจำเลยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องตีความสัญญาส่วนนี้ไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดนั่นเอง จำเลยทำรายการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในงวดที่หนึ่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ทำรายการครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 โดยเป็นการทำรายการโอนเงินก่อนถึงกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวด ในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวดนั้น ธนาคารทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยทันที พฤติการณ์ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ 100,000 บาท แบ่งเป็น 2 งวด งวดแรกภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 จำนวน 50,000 บาท งวดที่สองภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จำนวน 50,000 บาท ด้วยการโอนเข้าบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยถนนวิทยุ เลขที่บัญชี 911 – 0 – 02xxx – x หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้บังคับคดีได้ทันทีตามจำนวนเงินในคำฟ้อง ต่อมาโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้อง คือ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนวิทยุ เลขที่บัญชี 709 – 1 – 04xxx – x เพื่อนำเงินมาชำระหนี้
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัด อ้างว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาครบถ้วนในเวลาที่ตกลงกันแล้ว
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การโอนเงินของจำเลยเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยสมัครใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำเลยโอนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความผ่านบริการดังกล่าวให้แก่โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กำหนด ให้โอนเงินในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ครั้งที่สองในวันที่ 9 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 เนื่องจากเป็นการโอนเงินแบบธรรมดาไม่เร่งด่วน จึงมีเงินเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในวันที่ 14 และวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ตามลำดับ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยโดยนายริชาร์ด กรรมการบริษัทจำเลยเป็นชาวอังกฤษ ไม่สามารถอ่านเขียนฟังภาษาไทยได้ ไม่เคยอ่านรายละเอียดในการใช้บริการเลย และทำการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตเป็นประจำไม่เคยมีปัญหา ในส่วนภาษาอังกฤษ ไม่มีคำใดแปลว่าการโอนเงินนั้นจะถึงผู้รับภายใน 3 วันทำการ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ตกลงรับเงินจากจำเลย 100,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50,000 บาท งวดแรกชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 งวดที่สองชำระภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ส่วนข้อตกลงที่ว่าหากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง (867,765.50 บาท) เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการบังคับจำเลยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องตีความสัญญาส่วนนี้ไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 ดังนั้น คำว่าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดนั่นเอง คดีนี้จำเลยทำรายการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในงวดที่หนึ่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ทำรายการครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 โดยเป็นการทำรายการโอนเงินก่อนถึงกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวด ข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่าในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวดนั้น ธนาคารทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยทันที การที่จำเลยเข้าทำรายการโอนเงินล่วงหน้าในลักษณะดังกล่าวย่อมไม่อาจทำให้คาดหมายได้ว่าจะมีผลทำให้ต้องผิดสัญญาและเสียเบี้ยปรับเป็นเงินอีกกว่า 800,000 บาท จำเลยมิได้มีเจตนาไม่สุจริตเอาเปรียบโจทก์แต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยโดยตลอดแล้วยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการอายัดเงินนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนวิทยุ เลขที่บัญชี 709 – 1 – 04xxx – x ของจำเลย

Share