คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีซึ่งมีกรณีพัวพันกันอยู่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่งศาลย่อมมีอำนาจเรียกสำนวนคดีเหล่านั้นมาประกอบการวินิจฉัยให้ข้อเท็จจริงได้ความแจ่มกระจ่างได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จ โดยจำเลยบังอาจเอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จมาฟ้องกล่าวโทษโจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยได้ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษโจทก์เป็นข้อความซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จจำเลยจึงต้องมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๑๕๘ พิพากษาวางโทษจำคุกจำเลย ๓ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์พิสูจน์ให้สม เมื่อโจทก์มิได้สืบพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยแกล้งนำคดีมาฟ้องโจทก์โดยไม่เป็นความจริง และจำเลยทราบอยู่ดีแล้วว่าเป็นเท็จ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เท่าที่ศาลชั้นต้นได้หยิบยกคดีอาญาเลขแดงที่ ๒๑๖/๒๕๐๐ มาประกอบการพิจารณาในฐานะพยานศาล และยกเอาเอกสาร จ.๑ ในคดีนั้นมาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ที่ดินเป็นของผู้ใดนั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการหยิบยกเอาพยานหลักฐานซึ่งคู่ความมิได้อ้างมาเป็นพยานวินิจฉัยให้เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญา ในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีอาญาเลขแดงที่ ๒๑๖/๒๕๐๐ ซึ่งศาลชั้นต้นได้เรียกมาเป็นพยานศาลประกอบการวินิจฉัยคดีด้วยนั้น มีกรณีเกี่ยวพันกับคดีแดงเลขแดงที่ ๕/๒๔๙๙ ซึ่งโจทก์ได้อ้างเป็นพยานไว้แล้ว และในคดีอาญาเลขแดงที่ ๒๑๖/๒๕๐๐ จำเลยก็ได้ฟ้องนายหมาด คำนิล พยานโจทก์ในคดีแพ่งแดงที่ ๕/๒๔๙๙ ว่าเบิกความเท็จในคดีดังกล่าว นับได้ว่าเป็นกรณีพัวพันกันอยู่ ศาลยุติธรรมอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๘ และ ๑๕ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรค ๓ และมาตรา ๑๘๗ ย่อมทรงสิทธิเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะทำการสืบพยานหลักฐานต่อไปให้ได้ความแจ่มกระจ่างว่าเท็จจริงเป็นไฉนได้ โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ที่ศาลชั้นต้นเรียกสำนวนดังกล่าวมา ประกอบการวินิจฉัย จึงชอบที่จะทำได้
เท่าที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องนั้นชอบด้วยรูปคดีแล้ว จึงพิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ

Share