คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2313/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ…” และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้” ดังนั้น เมื่อกฎกระทรวงฉบับที่ 597 (พ.ศ.2516) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงย่อมมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายและถือได้ว่าจำเลยทั้งสองหรือผู้ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุเจ้าของเดิมสามารถใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ มิใช่นับแต่มีการปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวให้ราษฎรทราบตามมาตรา 9 แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31, 35 และสั่งให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง, 35 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี และปรับคนละ 80,000 บาท โทษจำคุกเห็นควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28, 30 และให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่นอกที่ดินตามรูปที่ดินที่ปรากฏในหนังสือแจ้งการครอบครอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันเข้าไปปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย 33 หลัง ทั้งสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองหรือผู้ครอบครองที่ดินเจ้าของเดิมสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 597 (พ.ศ.2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ให้ป่าเกาะระเป็นป่าสงวนแห่งชาติลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 90 ตอนที่ 147 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2516 ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น” โดยครบกำหนด 90 วัน ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2517 แต่ปรากฏว่ามีการปิดประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2531 ทำให้ราษฎรในพื้นที่ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ เพราะล่วงเลยมา 15 ปี แล้วนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้” ดังนั้น เมื่อกฎกระทรวงฉบับที่ 597 (พ.ศ.2516) ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงย่อมมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายและถือได้ว่าจำเลยทั้งสองหรือผู้ครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุเจ้าของเดิมสามารถใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ มิใช่นับแต่มีการปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวให้ราษฎรได้ทราบแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้อง สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share