คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12760/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยให้รับผิดจากการที่นำขี้เถ้าแกลบที่เหลือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงไปกองไว้บริเวณโรงงานของจำเลยที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านพักของโจทก์ทั้งหก นอกจากนั้นจำเลยระบายควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำทางปล่องระบายควันปล่อยสารเจือปนในอากาศประเภทฝุ่นละอองเข้าสู่บรรยากาศในปริมาณเกินกว่ามาตรฐานประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย ดังนี้ กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกได้รับอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหายด้วยประการใด ๆ โจทก์ทั้งหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ได้ หรือหากเป็นกรณีจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์ทั้งหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
การฟ้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งหกอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อเหตุของการฟ้องร้องคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อจำเลยดำเนินการเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าต้นปี 2547 จนกระทั่งโจทก์ที่ 1 ร้องเรียน และมีการตรวจสอบโรงงานของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 โจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหกกับให้จำเลยระงับการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือหยุดการปล่อยควันหรือมลภาวะทางอากาศที่เกินกว่าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 120,000 บาท โจทก์ที่ 5 และที่ 6 คนละ 108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้จำเลยชดใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งหกชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 70,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 คนละ 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (4 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งหกชนะคดีชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า จำเลยได้รับอนุญาตให้เปิดโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการผลิต ส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546
มีปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งหกตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยให้รับผิดจากการที่นำขี้เถ้าแกลบที่เหลือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงไปกองไว้บริเวณโรงงานของจำเลยที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านพักของโจทก์ทั้งหก นอกจากนั้นจำเลยระบายควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำทางปล่องระบายควันปล่อยสารเจือปนในอากาศประเภทฝุ่นละอองเข้าสู่บรรยากาศในปริมาณเกินกว่ามาตรฐานประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย ดังนี้ กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกได้รับอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหายด้วยประการใด ๆ โจทก์ทั้งหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ได้ หรือหากเป็นกรณีจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์ทั้งหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
จำเลยฎีกาว่า เพิ่งทำสัญญาขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 หาได้ทำการผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ไม่ และนับแต่เดินเครื่องผลิตเรื่อยมาจนปัจจุบันไม่เคยปรากฏความเสียหายใด ๆ แก่ชาวบ้านที่อาศัยในละแวกใกล้เคียง มีการตรวจสอบคุณภาพ และควบคุมปริมาณละออง และสารเจือปนในอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดมานั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงงานของจำเลยเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ก่อให้เกิดการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษ อันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกได้รับอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพอนามัยหรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหกเสียหาย จำเลยในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น จะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่ามลพิษนั้นเกิดจากเหตุยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหกตามบทบัญญัติในมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งหกอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อเหตุของการฟ้องร้องคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อจำเลยดำเนินการเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าต้นปี 2547 จนกระทั่งโจทก์ที่ 1 ร้องเรียน และมีการตรวจสอบโรงงานของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 โจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกี่ยวกับปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่เกินให้แก่จำเลย

Share