คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15037/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16896 ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 และจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันการชำระหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 4,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินนางสาววรรณา จำนวนเงิน 188,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน 40,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16896 ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จากนั้นจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากนั้นนางสาววรรณาโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอนมาจากนางสาววรรณาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ ต่อมาศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์
มีปัญหาข้อแรกวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลกรณีจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย…” จากบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและตามที่ฟังเป็นยุติในเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้วได้ความว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากนางสาววรรณา ฐานะความเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา แต่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนวันที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากนางสาววรรณาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ในขณะจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมโอนที่ดินชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ว่า ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ควรตกเป็นพับหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติว่า ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 4,500 บาท แทนจำเลยทั้งสองนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจไปตามกฎหมาย ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share