คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้พูดยกที่ดินมือเปล่าให้แก่บุตรแต่ละคน โดยบุตรคนไหนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใด ก็ยกที่ดินส่วนนั้นให้ โจทก์ซึ่งเป็นบุตรเจ้ามรดกได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาท และได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่าเป็นเจ้าของตลอดมาแม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปขอรับมรดกที่ดินพิพาท ซึ่งมี ส.ค. 1 แล้วขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจึงหาทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรของนายรอด ยืนยงและนางผิง ยืนยง บุคคลทั้งสองได้แบ่งที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 112หมู่ที่ 3 ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่1 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสองจำเลยและทายาทอื่นปลูกบ้านอยู่อาศัยคนละส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์ จำเลยและบุตรคนอื่นได้ครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามส่วนที่ได้รับการให้ติดต่อตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ต่อมาหลังจากนายรอดและนางผิงถึงแก่กรรม จำเลยได้แจ้งเท็จต่อพนักงานที่ดินเพื่อขอรับมรดกที่ดินแปลงพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ไม่มีคนอยู่อาศัย ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อลงชื่อจำเลยใน ส.ก.1 และออก น.ส.3เลขที่ 119 ให้จำเลย โจทก์ทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยแบ่งที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ให้โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 119 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง มีเนื้อที่คนละ 1 งาน2 ตารางวาเศษ หากจำเลยไม่ไปรังวัดให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า ก่อนนายรอด นางผิงถึงแก่กรรม ไม่เคยแบ่งที่ดินให้บุตรคนใดปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ จำเลยและทายาทคนอื่น ๆซึ่งมีสิทธิรับมรดกได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกกันไปแล้ว โดยจำเลยได้ที่ดินพิพาท จำเลยได้ไปขอออก น.ส.3 และครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ยึดถือที่ดินพิพาทแต่ได้มาขออาศัยที่ดินจำเลยปลูกบ้าน โจทก์กล่าวฟ้องว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่จำเลยได้ขอออก น.ส.3 และปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จึงถือว่าได้แย่งการครอบครองที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โดยสงบโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 12 ปี โจทก์ทั้งสองทราบแต่ไม่ได้ฟ้องคดี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนวันชี้สองสถาน จำเลยถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายประภาส ยืนยงค์ ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 119 เล่มที่6 หน้า 24 หมู่ 3 ตำบลหัวดง อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ให้โจทก์ที่ 1 ได้ภายในเส้นสีเขียว โจทก์ที่ 2 ได้ภายในเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทรังวัดวันที่ 14 สิงหาคม 2526 หากจำเลยไม่ไปรังวัดจดทะเบียนแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวข้างต้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ทั้งสอง นางเอื้อน ยืนยงค์ และนางสายทอง ยิ้มเจริญ เบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทตั้งแต่เมื่อนางผิง นายรอด ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อนายรอดถึงแก่กรรมได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกของนางผิงนายรอดตามพินัยกรรมที่นายรอดได้ทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 สำหรับที่ดินซึ่งเป็นที่บ้านรวมทั้งที่ดินพิพาทนี้ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมโดยโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ก่อนนายรอดถึงแก่กรรมได้พูดยกที่ดินที่บุตรแต่ละคนปลูกบ้านอยู่ตรงไหนก็ให้ได้ที่นั้น นอกจากนี้ยังมีนายยุทธ รองอ่ำ ซึ่งเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันในท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่เบิกความว่าเห็นโจทก์ทั้งสองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของบิดามารดาตลอดระยะเวลาที่พยานเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันมา 33 ปี ไม่เคยเห็นโจทก์ทั้งสองย้ายไปอยู่ที่อื่น และว่านายรอดได้ให้พยานเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 ส่วนฝ่ายจำเลยมีนายประภาส ยืนยงค์ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย นายสมุทร จันทรัตน์ นางน้อยวิเชียรวรรณ และนายบรรเจิด ยืนยงค์ เบิกความทำนองเดียวกันว่าเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 ไม่ใช่พินัยกรรมของนายรอด เมื่อนายรอดถึงแก่กรรมบรรดาทายาทได้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกัน โดยจำเลยได้ที่ดินซึ่งเป็นที่บ้านของนายรอด นางผิง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2514 โจทก์ทั้งสองจึงมาขอปลูกบ้านในที่ดินพิพาทจากจำเลย เห็นว่าพยานโจทก์จำเลยทั้งสองฝ่ายต่างเป็นญาติสนิทกันทั้งนั้น คงมีแต่นายยุทธ รองอ่ำพยานโจทก์เท่านั้นที่เป็นบุคคลภายนอกคดีไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดทั้งพยานปากนี้ยังเป็นผู้ปกครองท้องที่โดยเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ย่อมจะทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด คำเบิกความของนายยุทธจึงมีน้ำหนักในการรับฟังที่จำเลยนำสืบว่าเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 ไม่ใช่พินัยกรรมของนายรอดนั้น ก็เป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างของพยานจำเลยลอย ๆหามีหลักฐานอื่นใดสนับสนุนไม่ ส่วนโจทก์นอกจากจะมีพินัยกรรมดังกล่าว และมีนายยุทธผู้เขียนพินัยกรรมมาเบิกความรับรองแล้วยังปรากฏว่าที่ดินที่บรรดาทายาทของนายรอดได้รับส่วนแบ่งไปตามที่จำเลยนำสืบ ต่างตรงกับพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทขณะที่นางผิงนายรอดยังมีชีวิตอยู่ หาใช่โจทก์ทั้งสองเพิ่งมาขออนุญาตจำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2514 ดังที่จำเลยนำสืบไม่ ทั้งข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ต่อไปว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 เป็นพินัยกรรมของนายรอดอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่บรรดาทายาทของนายรอดจะต้องมาตกลงแบ่งทรัพย์มรดกดังที่จำเลยอ้างกันอีก และโดยเหตุที่พินัยกรรมของนายรอดดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงที่ดินอันเป็นที่บ้านตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทนี้ด้วย กรณีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า นายรอดได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่บุตรของตนที่ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินแปลงนั้นไปแล้ว โดยบุตรคนไหนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใดก็ยกที่ดินส่วนนั้นให้ดังที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ ดังนั้นพินัยกรรมของนายรอดจึงมิได้กล่าวถึงที่ดินตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 อีก เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปขอรับมรดกที่ดินตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 แล้วขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย ล.1ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาเช่นนี้ หาทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยไปขอทำการรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามแผนที่วิวาทฉบับรังวัดวันที่14 สิงหาคม 2526 ให้โจทก์ที่ 1 ได้ภายในเส้นสีเขียว โจทก์ที่ 2ได้ภายในเส้นสีแดงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share